แนะนำเนื้อหา ติดต่อ 085 395 9493 หรือ michaelleahai@gmail.com และ แอดไลน์
เที่ยวอยุธยาเมืองอินเตอร์ กับ "Sookjai วันหยุด" ราชอาณาจักรใหญ่ในอดีต 417 ปีแห่งการสู้รบและการค้า มีสายสัมพันธ์โยงใยผู้คนหลากชาติหลายภาษา แม้ว่าจะเป็นอดีตเมื่อถูกพม่าเผาเมือง แต่ยังเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นสถานีการค้าฮอลันดา หมู่บ้านญี่ปุ่น หรือหมู่บ้านโปรตุเกส ที่ "Sookjai วันหยุด" จะพาเดินทางท่องเที่ยว อย่างเข้าอกเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชมต่างชาติต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา
สถานีการค้าฮอลันดา
หมู่บ้านทั้งหมดนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะเมืองอยุธยา สังเกตเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นแลนด์มาร์ค แล้วตรงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเข้าสถานีการค้าฮอลันดาอยู่ในละแวกวัดพนัญเชิง แต่จะเป็นทางเข้าแบบลึกลับๆ ถ้าหาไม่เจอะลองถามคนแถวนั้น เพราะแม้แต่ป้ายบอกทางก็ยังงงๆ ถ้าเห็นอู่ต่อเรือไม้ แสดงว่าใช้ได้ มาถูกทาง
บอกก่อนว่า สถานีการค้าฮอลันดาหรืออาณานิคมฮอลันดาในปัจจุบัน เหลือทรากก่ออิฐเพียงนิดเดียวเท่านั้น แต่สร้างอาคารใหม่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการไว้แล้ว โดยเรื่องราวในนิทรรศการก็บอกเล่าถึงชุมชนใหญ่ของชาวฮอลันดา (จะเรียกเนเธอร์แลนด์, ดัตช์, หรือฮอลแลนด์ก็ได้) ตัวอาคารหลังใหม่เป็นอาคารสองชั้น สีสวยสดงดงาม ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา อากาศดี ลมเย็นชื่นใจ
ที่น่าประหลาดใจคือว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ของชาวฮอลันดานี้ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 4 เมตร แต่ในอดีตเป็นผู้กุมเกมการค้าทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ ในสมัยอยุธยา บริษัทวีโอซีมีเรือเดินทะเลมากถึง 5,000 ลำ มีลูกจ้างเฉพาะในเอเชียเกือบ 1 ล้านคน ขนส่งสินค้ามากว่า 2.5 ล้านตันไปยังประเทศต่างๆ โดยสินค้าที่มีความสำคัญมากในเวลานั้นก็คือ ดีบุก ชาจีน เครื่องเทศ และอื่นๆ ดังคำพังเพยโบราณของชาวฮอลันดาที่กล่าวไว้ว่า
"สิ่งที่มาจากแดนไกลที่สุด ย่อมดีที่สุด"
กว่าที่ชาวฮอลันดาจะเข้ามาติดต่อการค้ากับกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ก็ปาเข้าไปสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว (ช้ากว่าพวกโปรตุเกสตั้งเยอะ) ทีแรกชาวฮอฯ ตั้งใจว่า จะขอติดตามเรือสำเภาจากอยุธยาไปยังประเทศจีน เพื่อหวังเปิดตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่ด้วยความเป็นสังคมนานาชาติของอยุธยา ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดฯ ให้ตั้งสถานีการค้าแห่งแรก (ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหนนะฮะ) ต่อมาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้พระราชทานที่ดินผืนใหญ่ให้กับบริษัทวีโอซี โปรดฯ ให้ก่อตั้งเป็นสถานีการค้าถาวร ตอบแทนที่ให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร เมื่อคราวเกิดข้อพิพาทกับรัฐปัตตานี
มีผู้อาศัยในอาณานิคมฮอลันดาแห่งนี้ ไม่ใช่น้อยๆ แต่มีคนมากถึง 1,500 คน มีการเปิดตลาดเพื่อให้คนในชุมชนได้ค้าขาย กลายเป็นชุมชนใหญ่ทางตอนใต้กรุงศรีอยุธยา มีอาคารหลักของสถานีการค้า ที่พักของเจ้าหน้าที่ต่างๆ โกดังสินค้า ห้องเหล้า โรงครัว โรงตีเหล็ก คอกม้า เล้าสัตว์ และสุสาน
แต่ในปัจจุบันนี้ เหลือทรากอาคารของสถานีการค้าฮอลันดาเพียงแห่งเดียว ติดป้ายทองเหลืองบอกไว้ว่าเป็นสถานที่ตั้งของ บริษัทอินเดียตะวันออก ของฮอลันดา ตรงนี้ถ้าใครอยากค้าขายรุ่งเรืองอย่างบริษัทวีโอซี ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติแห่งแรกๆ ของโลก ก็ให้พกธูปเทียนทองคำเปลวมาด้วย
"อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย" นอกจากจะนำวิทยาการแปลกใหม่เข้าสู่สยามแล้ว ชาววีโอซียังมีบทบาทอย่างมากต่อราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ในการจัดหาช่างฝีมือ เช่นช่างทอง การนำแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาในสยาม การขนส่งม้าหลายร้อยตัวที่พระมหากษัตริย์สั่งซื้อจากชวา รวมไปถึงกลุ่มพระสงฆ์ที่เดินทางไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ได้อาศัยเดินทางไปกับเรือของวีโอซีนี่เอง นอกจากนี้ยังให้ราชสำนักหรือขุนนางได้หยิบยืมอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ อีกด้วย
ประมาณปี พ.ศ. 2308 กองทัพพม่าเข้ายึดบางกอก และขยับเข้าชิดสถานีการค้า นายสถานีในเวลานั้นตัดสินใจจัดการอพยพผู้คนไปสู่เมืองปัตตาเวีย กระทั่งหลังปี พ.ศ. 2310 ไปแล้ว จึงได้ทราบข่าวว่า กรุงศรีอยุธยาถูกเพลิงเผามอดไหม้ จนไม่อาจฟื้นคืนสภาพได้อีกเลย
หมู่บ้านญี่ปุ่น
สำหรับหมู่บ้านญี่ปุ่น เดินทางต่อลงมาจากวัดพนัญเชิง เลาะแนวแม่น้ำเจ้าพระยานี่แหละ จนเกือบจะถึงสะพานอโยธยาอยู่รอมร่อ จะมีทางเข้าใหญ่โตบอกว่าเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น เลี้ยวเข้ามาซื้อบัตรเข้าชมได้เลย เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีมุมสวยๆ ให้เซลฟี่มากมาย แถมมีสวนเซนให้นั่งเล่น อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน มาแล้วอย่าลืมนั่งคาเฟ่ สั่งมัทฉะดื่ม เพราะว่าดริ้งค์ชาเขียวที่หมู่บ้านญี่ปุ่น ของแท้รับรองได้ ถ้าไม่อร่อยก็ไม่รู้จะไปดื่มที่ไหนแล้ว
ชาวญี่ปุ่นเริ่มทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระมหาธรรมราชา ก่อตั้งชุมชนครั้งแรกในสมัยพระนเรศวรเช่นเดียวกับบ้านฮอลันดานี่เอง ในยุคเรืองรองมีชาวหมู่บ้านไม่เกิน 1,000-1,500 คน
เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โปรดฯ ให้เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น และหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่น คือ ยามาดะ นางามาซะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อปราบกบฏเมืองใต้ หลังจากนั้น พระเจ้าปราสาททองได้เผาทำลายล้างหมู่บ้านญี่ปุ่นที่อยุธยา แต่ชาวญี่ปุ่นได้อพยพไปก่อนแล้ว
นางามาซะ เป็นชาวเมืองนาโงย่า เกิดในสมัยเอโดะ เดินทางมายังไต้หวันกับเรือสำเภาญี่ปุ่น และต่อมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ได้เป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ศักดินาหนึ่งพัน มีทหารอาชีพในสังกัด 800 คน นอกจากนี้นางามาซะยังเป็นพ่อค้าคนกลาง ส่งสินค้าของกรุงศรีอยุธยาไปขายต่างประเทศ หลังจากได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็เสียชีวิตลงภายในปีนั้น
ใครไปเที่ยวลพบุรีบ่อยครั้ง หรือดูละคร "บุพเพสันนิวาส" คงคุ้นชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่า สมัยพระนารายณ์ ที่เป็นสามีของท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ เดอ ปีมา ลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียงเรื่องขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นก็ได้จัดแสดงนิทรรศการในส่วนนี้ด้วย เพราะถือว่าท้าวทองกีบม้าเป็นลูกหลานคนญี่ปุ่นในอยุธยาครับ
หมู่บ้านโปรตุเกส
สำหรับหมู่บ้านโปรตุเกส ต้องตามแนวแม่น้ำลงไปอีกเล็กน้อย พอเจอะทางแยก เลี้ยวขวาข้ามสะพานอโยธยาไปอีกฝั่งได้เลย ถ้าลากเส้นจากฝั่งหมู่บ้านญี่ปุ่น ก็แทบจะอยู่ตรงข้ามกัน เพียงแต่มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นไว้เท่านั้น
ชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับชาวอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มาเป็นทหารอาชีพช่วยรบในศึกเชียงกราน ต่อมา พระไชยราชาธิราช พระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนชาวโปรตุเกส โปรดฯ ให้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรี กลายเป็นชุมชนชาวตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา มีคนอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 คน เป็นทหารอาสา ช่างต่อเรือ และทำธุรกิจการค้า ส่วนใหญ่เป็นลูกผสมหลายเชื้อชาติ ไม่ใช่โปรตุเกสแท้
ตอนนี้ ใครมาเที่ยวหมู่บ้านโปรตุเกส คงเห็นโบสถ์นักบุญเปรโต คณะโดมินิกัน (หรือเซนต์โดมินิค) หนึ่งในสามของโบสถ์คริสต์ที่เคยมีอยู่ในบริเวณนี้ ที่พอเข้ามาภายใน ไม่เห็นจะเหมือนโบสถ์สักนิด อย่างกับสุสานฝังศพ เข้าไปถ่ายรูปแล้วอาจจะหลอนๆ หน่อย เพราะที่นี่เขาขุดเจอโครงกระดูกคนไม่ต่ำกว่า 200 ศพขึ้นไป
ชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในอยุธยาอย่างสงบสุข กระทั่งกองทัพพม่าบุกเข้าเผาทำลายหมู่บ้านชาวยุโรปต่างๆ หนึ่งในนั้นคือชุมชนโปรตุเกส ทหารพม่าเที่ยวรื้อทำลายโบสถ์คริสต์ ปล้มสะดมภ์ทรัพย์สินสิ่งของ หมู่บ้านชาวโปรตุเกสที่อยู่คู่กับกรุงศรีอยุธยาอย่างยาวนานถึง 227 ปี จึงล่มสลายลงพร้อมกับกรุงศรีฯ ชาวโปรตุเกสที่อพยพหลบหนีภัยสงครามครั้งนั้น ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมทัพกับพระเจ้าตากสิน มีส่วนร่วมในการบุกเข้าตีกองทัพพม่า จนสามารถสร้างบ้านแปงเมืองได้อีกครั้ง
บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้รวบรวมชาวโปรตุเกส เดินทางอพยพมาก่อร่างชุมชนที่ฝั่งธน-กรุงเทพ กลายเป็นชุมชนรอบโบสถ์ซางตาครูซ หรือชุมชนกุฎีจีน มีการทำขนมฝรั่งอย่างอร่อย เรียกว่าขนมฝรั่งกุฎีจีน ภายหลังได้แตกออกไปสร้างโบสถ์กาลหว่าร์ หรือกาลวาเรโอ ที่ตลาดน้อยอีกหนึ่งแห่ง
เชื่อไหมครับว่า ในสมัยอยุธยาตอนต้น ภาษาที่เราใช้ติดต่อกับชาติอื่น โดยเฉพาะยุโรป เราใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก และบาทหลวงที่เดินทางเข้ามาในอยุธยาก็เขียนเล่าไว้ว่า ขุนนางอยุธยาพูดภาษาโปรตุเกสได้ทุกคน จนแม้แต่คนฝรั่งเศสเองก็ต้องฝึกภาษาโปรตุเกส ถึงจะสื่อสารกับขุนนางในอยุธยาได้
การเข้ามาของโปรตุเกส ก็เข้ามาพร้อมกับวิทยาการใหม่ๆ เช่นเดียวกับชนชาติอื่นๆ ทั้งการตั้งป้อมปราการ การสร้างกำแพงเมืองที่แข็งแรง และยังทิ้งร่องรอยทางด้านวัฒนธรรม เช่น ภาษา และอาหาร ไว้อีกด้วย
เดินเที่ยวแค่ 3 หมู่บ้านก็เหนื่อยแล้วล่ะครับ แต่ความเป็นเมืองอินเตอร์เนชั่นแนลของอยุธยา ที่จริงมีคนต่างชาติต่างภาษาอีกหลายสิบชนชาติที่เข้ามาอยู่อาศัย ค้าขายทำมาหากิน เพราะมีทั้งหมู่บ้านอังกฤษ หมู่บ้านเวียดนาม ชุมชนชาวจีน และอื่นๆ เพียงแต่ไม่ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
กิ๊กทั่วไทย เที่ยวอยุธยา ep 1 มีวัดร้างกี่แห่ง มีคำตอบ ดูภาพวิหารมงคลบพิตร ปี 2499
อ่าน 520 คน
กิ๊กทั่วไทย เที่ยวอยุธยา ep 2 การโจรกรรมครั้งใหญ่ในอยุธยา เที่ยววัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ
อ่าน 298 คน
เดอะ พาร์ค อยุธยา รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่พักอยุธยา พักผ่อนท่ามกลางแมกไม้ริมบึงพระราม
อ่าน 535 คน
ซื้อบัตรงานมรดกโลก 2566 ยังไงได้ราคาถูก เที่ยวอยุธยาชมแสงสีเสียงรำลึกกรุงเก่า 31 ปีมรดกโลก
อ่าน 5174 คน
อร่อยอยุธยากับร้าน Earl ร้านย้อนยุค สุขใจวันวาน หมูผัดแจ่ว ข้าวเนื้อทอด
อ่าน 352 คน
ร้านเซี่ยนตำ อีสานร้านอร่อยบางใหญ่ มาเลยตลาดบีบี ตรงข้ามเซ็๋นทรัล เวสต์เกต
อ่าน 3625 คน
บุญซำฮะ 2563 บุญเดือนเจ็ด มหาสารคาม ซำฮะกาย ซำฮะใจ ต้านภัยโควิด 19
อ่าน 1290 คน
ลพบุรี ปาล์ม รีสอร์ท ที่พักกลางสวนปาล์มแห่งเดียวในลพบุรี ไม่ไกลจากเมือง
อ่าน 3112 คน
สวัสดี ออนไลน์ สำนักพิมพ์ บอกต่อ...
เที่ยวอยุธยาเมืองอินเตอร์ กราบสถานีการค้าฮอลันดา เยี่ยมหมู่บ้านญี่ปุ่น ไปหมู่บ้านโปรตุเกส ราชอาณาจักรใหญ่ในอดีต 417 ปีแห่งการสู้รบและการค้า มีสายสัมพันธ์โยงใยผู้คนหลากชาติหลายภาษา
*ไม่มีนโยบายเรียกรับเงินค่าโฆษณา พบผู้ใดมีพฤติกรรมดังกล่าว แจ้งความดำเนินคดีได้ทันที
อ่านกันเยอะมาก