
จิตรตามสั่งกับเมนูข้าวผัดกะปิที่เจอะโดยบังเอิญคราวนี้ เป็นเพราะวันเสาร์อาทิตย์เสาะหาเมนูจะกิน ต้องใช้วันหยุดให้คุ้มค่าตามสไตล์ "Sookjai วันหยุด" ซะอย่าง เพราะ สวัสดี ออนไลน์ สำนักพิมพ์ ถือว่าการได้กินของอร่อยเป็นกำไรน้อยๆ ของชีวิต
นั่งรถมาไกลถึงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เพื่อชิมเมนูใกล้สูญพันธุ์ ข้าวผัดกะปิ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับข้าวคลุกกะปิ (ไม่เหมือนกันนะ)
ในเว็บไซต์นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ลงเรื่องตำราอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร (คลิกอ่าน) ตอนหนึ่งเขียนถึงเมนู ข้าวผัด ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ว่ามีหลากหลาย น่ากินกว่าข้าวผัดสมัยปัจจุบัน เช่น "ข้าวผัดชาววัง ใส่หมูต้มเค็ม กุ้ง ไข่. ข้าวผัดตลาด ใส่เนื้อวัวหรือไก่ ปรุงรสด้วยน้ำเต้าหู้ยี้กับซอสมะเขือเทศ. ข้าวผัดอย่างไทย ใส่กุ้งแห้ง เต้าหู้เหลือง หัวผักกาดเค็ม ข้าวผัดกะปิ ข้าวผัดกุ้งใส่น้ำพริกเผา โดยเฉพาะข้าวผัดเต้าหู้ยี้กับข้าวผัดหนำเลี๊ยบหรือหนำพ๊วย ซึ่งมีกลิ่นอายของจีนชัดเจน"
เสียดาย ตรงข้าวผัดกะปิไม่ได้อธิบายไว้ว่าเป็นอย่างไร แต่ข้าวผัดอื่นๆ โดยเฉพาะข้าวผัดแบบไทยๆ ใส่กุ้งแห้ง เต้าหู้เหลือง ผักกาดเค็ม ดูท่าน่ากินไม่แพ้กัน
ในละแวกตลาดพลูยังมีเสน่ห์ครับ ถนนราดยางเลนเดียวริมทางรถไฟแบบนี้ เจอร้านขายเครื่องจักรสาน มีสถานีรถไฟตลาดพลูขนาดเล็กกะทัดรัด เดินทะลุตัวสถานีออกมาฝั่งถนนเทอดไท ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักของย่านตลาดพลูได้
จิตรตามสั่งกับข้าวผัดกะปิ
แต่สำหรับเมนู "ข้าวผัดหมูกะปิ" ไม่ต้องทวิภพไปไกลถึงสมัย ร.5 แค่เดินมาปากซอยเทอดไทย 27 (ซอยตึกชื่น มัฆวิบูลย์ นั่นแหละ) แถวร้านกุ่ยช่ายสะพานหัน เดินเข้ามาสุดซอย เจอะร้านจิตรตามสั่ง ลองอ่านเมนูหน้าร้าน สะดุดตาเมนู "ข้าวผัดหมูกะปิ" จะเหมือนข้าวผัดกะปิสมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือไม่ ก็ไม่แน่ใจเช่นกัน
แต่ที่แน่ๆ เข้าร้านตามสั่งไหนๆ ก็ไม่เคยเจอะ "ข้าวผัดกะปิ" สักกะที
รสชาติไปทางกลางๆ แบบร้านอาหารตามสั่งทั่วไป แต่ข้าวผัดออกกลิ่นกะปิชัดเจน ไม่มีเครื่องเคียงอะไรพิเศษ นั่งรับประทานในซอยเทอดไท 27 ซึ่งเป็นตลาดอาหาร เต็มไปด้วยบ้านตึกเก่าแก่ติดทางรถไฟ ทั้งร้านน่ำเฮง ร้านเลิศพาณิชย์ในอดีต จึงได้บรรยากาศไปอีกแบบ
แถมซอยนี้ยังมีรางระบายน้ำเล็กๆ แบบกรุงเทพฯ ในอดีตอีกด้วยนะ
นอกจากบรรยากาศฝั่งธนในอดีตแล้ว ตลาดพลูยังมีของอร่อยมากมาย ซึ่งต้องไปตระเวนชิมอีกหลายๆ ครั้งครับ