
เที่ยวนครสวรรค์ พาสานแลนด์มาร์ค ปากน้ำโพ "Sookjai วันหยุด" พาท่องเที่ยวแบบโก้หร่าน มาไกลถึงจังหวัดนครสวรรค์ มาดูพาสานแลนด์มาร์ค อาจจะแปลกประหลาดสักหน่อย สำหรับสิ่งปลูกสร้างใหม่ล่าสุดของชาวปากน้ำโพ ว่าเป็นรูปร่างที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งใดกันแน่ แต่ที่จริงแล้ว “พาสาน” แผลงมาจากคำว่า “ผสาน” ครับ หมายถึงการรวมเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น ซึ่งในที่นี้หมายถึง "แม่น้ำ" นั่นเอง
จากคอนเซปชวลในการออกแบบ ที่พูดถึงการรวมเข้าของแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำปิง (มีต้นน้ำอยู่ที่ อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่), แม่น้ำวัง (จ.ลำปาง), แม่น้ำยม (จ. พะเยา) และแม่น้ำน่าน (อ.บ่อเกลือ จ.น่าน) โดยระหว่างทางได้รวมเข้าเป็นแม่น้ำสองสาย (คือแม่น้ำน่านกับแม่น้ำปิง) แล้วจึงมาบรรจบกันอีกครั้งที่ตลาดปากน้ำโพ กลายเป็น “แม่น้ำเจ้าพระยา” ตรงบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-ศาลเจ้าแม่ทับทิมพอดี๊..พอดี หรือเรียกอีกอย่างก็ตรงแหลมปากน้ำโพ ตรงที่ตั้งพาสานแลนด์มาร์คแห่งนี้แหละ
เจ้าพระยาคือแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมากมายนะครับ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม่น้ำสายนี้หลอมรวมเอาความหลากหลายเข้าด้วยกัน จนกลายเป็น "ความเป็นไทย" ในปัจจุบันนี้
และจากตรงนี้ หากมองด้วยตาเปล่า จะเห็นแม่น้ำปิงที่มีผิวน้ำสีเขียว กับแม่น้ำน่านที่มีผิวน้ำเป็นสีน้ำตาลแก่
เส้นสายของตัวอาคารพาสานเปรียบเสมือนแม่น้ำสี่สาย รวมตัวเข้าในลักษณะโค้งสูง บิดเอียง และแตะต้องผืนดินน้อยที่สุด ตัวอาคารเป็นงานไม้ผสานประดับกระจก ภายในลดหลั่นสามชั้น แฝงไว้ด้วยความอ่อนโยนและนุ่มนวลเช่นเดียวกับสายน้ำนั่นเอง
เมื่อยืนอยู่ในพาสาน เราสามารถมองเห็นแม่น้ำได้ทั้งสองฝั่ง ทั้งแม่น้ำน่านและแม่น้ำปิง รวมถึงทางเดินภายในที่นำทางทุกคนออกสู่จุดรวมกันของสายน้ำ คือบริเวณปลายแหลมปากน้ำโพ
มองไปข้างหน้าเห็นศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ - ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าสำคัญของชาวปากน้ำโพ อันเป็นที่มาของประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ซึ่งมีต้นเหตุจากโรคระบาด (แต่ไม่ใช่โควิด - 19 นะ)
ได้มาเห็นแลนด์มาร์คที่ออกแบบอย่างสวยงาม และแฝงความหมายดีๆ แบบนี้ ก็อดทึ่งกับนครสวรรค์ พ.ศ. นี้ไม่ได้ เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว