
พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยนายหนังตะลุง ที่หัดวาดภาพด้วยถุงปูนจากการสร้างวัด เป็นเพราะกระดาษเป็นสิ่งขาดแคลนในสมัยสงครามโลก ก่อร่างสร้างตัวด้วยการสั่งสมฝีมือและชื่อเสียงในการเล่นหนัง จนได้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปี 2547
อาจารย์สุชาติยังแตกต่างจากนายหนังตะลุงคนอื่นๆ เพราะเป็นนายหนังที่สร้างตัวหนังได้เอง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นอาจารย์แห่งวิชาการเล่นหนังและทำตัวหนังตะลุง โดยนายหนังทั่วไปจะไม่สามารถทำตัวหนังเองได้
นอกจากสร้างตัวหนังตะลุงเองแล้ว ยังเล่นเอง พากย์เอง เขียนพล็อตเรื่องเอง จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วหัวเมืองปักษ์ใต้
ถามว่าตัวละครในหนังตะลุงมีอยู่ทั้งหมดกี่ตัว ตอบได้ว่าไม่ใช่มีแค่ ไอ้เท่ง ไอ้นุ้ย หรือฤาษี แต่ตัวหนังมีมากเป็นร้อยตัว แต่ละตัวมีบุคลิกหน้าตา รูปร่าง ลักษณะนิสัย และประวัติแตกต่างกัน เช่น ไอ้แก้วกบ มีรูปร่างอ้วนเตี้ย หัวเหมือนกบ ไม่มีพุง ไม่มีก้น ไม่ถืออาวุธ มักเก่งแต่ปาก ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ มีนิสัยฉลาดแกมโกง แต่มักเสียรู้คนในเรื่องง่ายๆ, ไอ้ดิก มีลักษณะหัวและปากเหมือนเป็ด พุงป่องยาน เอวเล็ก มีนิสัยเกเร พูดไม่ชัด, ไอ้พาน เป็นคนอ้วนลงพุง คอมีโหนก มีปอยผมกลางกบาล เป็นคนพูดจาฉลาด มักแสดงคู่กับไอ้พูน เป็นลูกที่คอยสั่งสอนไอ้พูนที่เป็นพ่อเสมอ
ถ้าอยากรู้จักทุกตัว ต้องเดินทางมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงของอาจารย์สุชาติ ทรัพย์สิน เพราะเขาจัดแสดงไว้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งบรรยายลักษณะนิสัยของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งมีนิสัยแตกต่างไม่ซ้ำกัน ตัวหนังตะลุงเหล่านี้ หาใช่อาจารย์สุชาติผู้เดียวที่สร้างสรรค์ขึ้น แต่เป็นนายหนังคณะต่างๆ ทั่วปักษ์ใต้ที่ช่วยกันสร้างตัวละครของตนเองจนโด่งดัง รวมแล้วมีมากนับร้อยตัว แต่จัดแสดงไว้ที่นี้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งให้เครดิตผู้สร้างสรรค์ เรียกว่ามาพิพิธภัณฑ์นี้เพียงแห่งเดียว จะเข้าใจทั้งจักรวาลหนังตะลุงปักษ์ใต้
แต่เดิมอาจารย์สุชาติแทบไม่เคยรับลูกศิษย์ เพราะเห็นว่าการทำตัวหนังและการเล่นหนังตะลุงเป็นเรื่องยาก หากจะรับลูกศิษย์สักคนเป็นต้องทดสอบฝีมือกันยกใหญ่ อาจารย์สุชาติมีแต่นิสัยชอบเก็บของเก่าเป็นทุนเดิม เมื่อเจอตัวหนัง เครื่องดนตรี เครื่องมือในการเล่นหนัง หรือเครื่องมือในการทำตัวหนังเก่าๆ ก็ซื้อเก็บไว้จากคนในแวดวงหนังตะลุงที่ลาเลิกอาชีพ แต่เรื่องจะทำพิพิธภัณฑ์นั้นคงเป็นเรื่องไกลตัวอย่างมาก
เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงตรัสกับอาจารย์สุชาติว่า "ขอบใจนะที่รักษาของเก่าไว้ให้ และอย่าหวงวิชา ขอให้ถ่ายทอดให้ลูกหลาน"
เมื่อนั้น อาจารย์สุชาติจึงสมัครใจจะสร้างพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงขึ้น โดยเริ่มจากซื้อที่ดินรอบๆ บ้านทีละนิดละหน่อย เพื่อขยายพื้นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้
พี่กุ้งนาง ลูกสะใภ้ของอาจารย์สุชาติเล่าว่า พระราชดำรัสสั้นๆ นั้น เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของอาจารย์สุชาติ จากที่ไม่เคยรับลูกศิษย์ กลายเป็นเปิดรับทุกคนที่อยากเรียนรู้เรื่องการทำตัวหนังและเล่นหนังตะลุง
จากวันนั้นจนวันนี้ พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเยาวชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช และรอคอยให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนเรียนรู้เรื่องราวของศิลปะพื้นบ้านหัวเมืองปักษ์ใต้มาจนบัดนี้