
พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา เที่ยวแปดริ้ว ย้อนอดีตเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มณฑลปราจีนบุรี มา (ไม่) ไกล ถึงจังหวัดฉะเชิงเทรากันแล้ว ไม่ว่าใครก็รีบมาไหว้หลวงพ่อโสธรเพื่อความเป็นสิริมงคลกันก่อน ใช่ครับ ก่อนจะเสาะหาของอร่อยรับทานกันอย่างชื่นอกชื่นใจท้องถิ่นไทยแลนด์ ที่ไปทางไหนๆ มีแต่ของอร่อยๆ ให้รับทานทั้งนั้น อิ่มท้องแล้วก็ทำท่าจะบึ่งรถกลับบ้านกันเลยทีเดียว
แต่ อ๊ะๆ sookjai วันหยุด ขอบอกว่า อยู่ด้วยกันก่อน อย่าเพิ่งไป...ครับ
อยู่ก่อนแล้วจะพาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา หรือ ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ด้วยนะ บอกให้ก่อนเลยว่าตำหนักแห่งนี้เคยใช้เป็นที่พำนักของสมุหเทศาภิบาลประจำมณฑลปราจีนบุรี ตั้งแต่ครั้งที่สยามประเทศยังปกครองในระบอบมณฑลเทศาภิบาลโน่นแน่ะ
อายุตำหนักก็ยาวนานประมาณ 100 ปีฝ่าๆ นั่นแหละครับ
นอกจากนี้ ยังเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ถึงสองครั้งสองคราวด้วยกัน รวมถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9, สมเด็จพระพันปีหลวง, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ต่างเคยประทับที่พระตำหนักริมลำน้ำบางปะกงแห่งนี้ เมื่อครั้งเสด็จฯ ฉะเชิงเทราเช่นกัน
ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ (หรือ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ทรงเป็นเจ้าชายในรัชกาลที่ 4 มีบทบาทในราชการงานเมืองของประเทศสยามมากมาย เคยเป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส กรุงโรม กรุงมาดริด และกรุงลิสบอน) เป็นตำหนักไม้ 2 ชั้น ทาสีเขียวอ่อนสลับเทาเข้ม เปิดช่องรับลมตามอย่างบ้านไม้สมัยก่อน ภายในบ้านจึงโปร่งโล่งสบาย แถมอยู่ติดแม่น้ำบางปะกงสบายตาสบายใจอีกด้วย ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ไม่บอกคงไม่รู้ว่าเคยมีความสำคัญถึงขนาดเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว
เพราะตามข้อสันนิษฐานแล้ว เมืองฉะเชิงเทราอาจมีความเจริญมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชวินิจฉัยเรื่องชื่อเมือง ฉะเชิงเทรา ว่าเป็นภาษาเขมร ส่วนชื่อเมืองแปดริ้ว ทรงเห็นว่าเป็นชื่อไทย เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังก็มีความเห็นในทางเดียวกัน โดยระบุว่าเพี้ยนมาจากคำว่า สตรึงเตรง หรือ ฉทรึงเทรา แปลว่า คลองลึก ตามลักษณะของแม่น้ำบางปะกง
ส่วนชื่อ แปดริ้ว เล่าเป็นเรื่องท้องถิ่นหลายสำนวนด้วยกัน
บ้างว่า เป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำบางปะกง ทำให้เกิดมีปลาช่อนขนาดใหญ่ ที่ต้องแร่ถึง 8 ริ้ว จึงจะแร่หมดทั้งตัวได้
บ้างว่า เพี้ยนจากคำว่า แป๊ะลี้ มีความหมายว่าเป็นเมืองร้อยลี้ เป็นเพราะชุมชนวัดโสธรที่ชาวจีนเดินทางมาค้าขายนี้ อยู่ห่างจากปากอ่าวประมาณหนึ่งร้อยลี้
ข้อสมมุติฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด บอกกันว่า เป็นคำเรียกจากเรื่องในปัญญาสชาดก (ชาดกนอกนิบาต, นอกสังคายนา เป็นที่นิยมของทางล้านนาและลาว) คือเรื่อง พระรถ-เมรี ที่กล่าวถึงเหตุการณ์นางยักษ์สังหารนางสิบสอง แล้วชำแหละศพนางสิบสองเป็นแปดริ้ว (โอ้โห โหดยิ่งกว่าแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ซะอีก)
มีข้อยืนยันนะครับ เพราะในแถบพนัสนิคม (จังหวัดชลบุรี พื้นที่ใกล้เคียงกัน) เป็นที่อยู่ของชาวเวียงจันทน์ตั้งแต่คร้ังรัชกาลที่ 3 ชาวลาวเรียกพื้นที่ต่างๆ ที่มีอยู่แต่เดิม ตามชื่อในชาดกพระรถเมรีท้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเมืองพระรถ ถ้ำนางสิบสอง บ่อน้ำไก่พระรถ เป็นต้น
ท่านผู้อ่านจะเลือกเชื่อสำนวนไหน โปรดใช้วิจารณญานไตร่ตรองกันได้ตามใจชอบนะคร้าบบบบบ
นิทรรศการบอกให้ทราบถึงความสำคัญของเมืองฉะ (เชิงเทรา) อีกว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรามีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นในใกล้ราชธานีของประเทศ มีเจ้าเมืองรั้งตำแหน่งชั้นคุณพระ คือ พระวิเศษฤาชัย จวบถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฉะเชิงเทราก็ยังมีบทบาทเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นสถานที่รวบรวมไพร่พล อีกทั้งเป็นแหล่งเสบียงของทัพหลวงในคราวตีเมืองละแวก เพื่อกวาดต้อนคนไทยกลับคืน
เจ้าเมืองฉะได้รับการยกฐานะเป็น พระยาวิเศษฤาชัย ก็คราวนี้
ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาวชิรปราการ ทรงใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางเดินทัพ เกิดปะทะกับทหารพม่าที่ปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า พระองค์ตีทัพพม่าจนแตกพ่ายได้
เมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองฉะเชิงเทรามาชิดติดลำน้ำบางปะกง ทรงสร้างกำแพงป้อมปราการรักษาปากน้ำ ให้กลายเป็นเมืองเขื่อนขัณฑ์ (เมืองป้องกันการรุกรานจากข้าศึกอริราชศัตรู) โดยมีกรมหลวงรักษ์รณเรศร์เป็นแม่งานสำคัญ
มาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก จตุสดมภ์ เป็น มณฑลเทศาภิบาล แล้ว ทรงมีพระราชดำริว่าฉะเชิงเทราเป็นเมืองที่จะมีรถไฟผ่านต่อไป มีงานราชการมากกว่าเมืองอื่นๆ ฉะเชิงเทราจึงกลายเป็นที่ตั้งของที่ว่าการมณฑลปราจีน ที่เกิดจากการรวบรวมหัวเมืองตามลำน้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน มีพลตรีพระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข ชูโต) เป็นผู้บัญชาการมณฑลปราจีนคนแรก ให้เรียกสั้นๆ ว่า ข้าหลวงเทศาภิบาล มาเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่ง ผู้บัญชาการมณฑล เป็น สมุหเทศาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายหลัง
เรียกได้ว่า ฉะเชิงเทรา ของเราเป็นเมืองศูนย์กลางสำคัญในระดับภูมิภาคเลยทีเดียว
ต่อมาจึงรวมเมืองชลบุรี พนัสนิคม บางละมุง เข้ากับมณฑลปราจีนบุรีอีกส่วนหนึ่ง โดยมีเมืองฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางของงานราชการทั้งหมดเลยล่ะครับ
สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองฉะเชิงเทรา ก็มีการจัดแสดงด้วยภาพถ่ายเก่าหลายเหตุการณ์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเสด็จเยือนเมืองฉะเชิงเทราของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 หรือเหตุการณ์เมื่อครั้งไฟไหม้อาคารศาลาว่าการมณฑลปราจีน (ศาลากลางหลังเก่า), ภาพขบวนชักพระพุทธโสธรทางบก ที่มีช้างร่วมขบวนชักพระด้วย โดยอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากๆ คือเหตุการณ์อั้งยี่ยึดกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ที่กล่าวกันว่าการปราบขบวนการอั้งยี่ปล้นฆ่าเจ้าของโรงงานหีบอ้อย และฆ่าเจ้าเมืองฉะเชิงเทราตายครั้งนั้น ทำให้แม่น้ำบางปะกงต้องกลายเป็นสีแดงด้วยเลือดจากศพของพวกอั้งยี่ที่ถูกโยนทิ้งลงแม่น้ำ
สำหรับเหตุการณ์ร่วมสมัย เช่น การลอยดอกไม้จันทน์หน้าวัดหลวงพ่อโสธร เมื่อครั้งรัชกาลที่ 9 สวรรคต หรือ พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ ปากน้ำโจ้โล้ ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า เพื่อใช้เป็นน้ำอภิเษก (รวบรวมน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ) เมื่อคราวงานพระบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ก็มีภาพถ่ายจัดแสดงอยู่ด้วยเช่นกันครับ
sookjai วันหยุด เชิญชวนผู้อ่านทุกท่านเดินทางท่องเที่ยวอย่างเข้าใจในท้องถิ่นไทย ที่ต่างมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาน่าภาคภูมิใจของตน เพียงเปิดอ่าน sookjai วันหยุด ในทุกทริปการเดินทางของคุณ เพียงเท่านี้เราก็ซึ้งใจ