
วังบูรพาในตอนนี้ หมายถึงแขวงหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่เดิมใช้เรียกบริเวณทั้งหมดที่เคยเป็นวังของกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าสมเด็จวังบูรพา สมเด็จวังบูรพานี้เป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หรือรัชกาลที่ 5 วังนี้มีชื่อเต็มๆ ว่าวังบูรพาภิรมย์ ในสมัยที่กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองบางกอก วังนี้เคยเป็นแหล่งบันเทิงของเชื้อพระวงศ์ ด้วยเจ้าของวังทรงนิยมในการบันเทิง ภายในวังบูรพาแห่งนี้จึงมีการร้องเต้นเล่นละครรรำ มีการประชันดนตรีไทยอยู่เสมอ
หากใครชมภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ก็จะมีฉากที่ดำเนินเรื่องภายในวังบูรพาครับ
กล่าวกันว่าทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทั้งสองพระองค์ต่างโปรดเสด็จร่วมงานรื่นเริงที่วังบูรพา
ภายหลังวังบูรพาถูกขายให้กับเอกชน คนที่ซื้อเป็นเครือข่ายธุรกิจของบัณฑูร องค์วิศิษย์ หรือเซียวก๊ก ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ค่อนข้างแปลกในสมัยนั้นครับ เขาเคยคิดจะสร้างอำเภอบางแคให้กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีศูนย์การค้าใต้ดิน
หลังจากวังบูรพาถูกขาย พื้นที่แถบนี้จึงกลายเป็นศูนย์การค้าใหญ่ มีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นถึง 3 แห่ง นั่นคือโรงภาพยนตร์คิงส์ที่ฉายหนังฝรั่ง โรงภาพยนตร์ควีนส์ที่ฉายหนังแขก โรงภาพยนตร์แกรนด์ที่ฉายหนังไทย สำหรับโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงนั้นมีมาแต่เดิม ทำให้วังบูรพากลายมาเป็นแหล่งบันเทิงเริงใจของประชาชน จนกระทั่งกลายมาเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นยุคโก๋หลังวัง ซึ่งในสมัยนั้น วังบูรพากลายเป็นพื้นที่ๆ หรูหราและทันสมัยที่สุดในกรุงเทพมหานคร
ไม่เพียงแต่มีโรงหนังถึง 3-4 โรง แต่วังบูรพายังเป็นที่ตั้งของห้างเซ็นทรัลแห่งแรก ซึ่งในปัจจุบันนี้คือห้างไชน่าเวิร์ล และในละแวกวังบูรพายังมีร้านหนังสือทันสมัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านแพร่พิทยา ร้านคลังวิทยา ร้านโอเดียนสโตร์ ร้านรวมสาส์น ร้านหนังสือก้าวหน้า และร้านผดุงศึกษาบูรพา เรียกว่าถ้าจะอ่านหนังสือก็ต้องมาวังบูรพาครับ
และนอกจากนี้ วังบูรพายังเป็นแหล่งรวมแว่นตา ไม่ว่าจะเป็นร้านภิรมย์การแว่น หรือร้านแว่นตาวอชิงตัน
ออนล็อกหยุ่นยังเปิดขายมาจนปัจจุบัน ที่นี่เคยเป็นแหล่งพบปะของดาราภาพยนตร์ในอดีต รวมไปถึงนักแสดงประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างครับ เพราะอยู่ใกล้ศาลาเฉลิมกรุง และตัวประกอบส่วนมากมักจะชอบมาเดินหางานแถวนี้ สำหรับร้านจีจ้งหว่อ อยู่ตรงข้ามโรงหนังควีนส์ ร้านนี้เปิดมาก่อนโรงหนัง ตอนนี้โรงหนังควีนส์กลายเป็นที่จอดรถ และสามารถเดินทะลุเข้าไปด้านหลังได้ครับ
นอกจากนี้ในละแแวกวังบูรพายังมีภัตตาคารและไนท์คลับ แต่ที่แปลกใหม่ในสมัยนั้นก็คือไอศครีม
และใกล้กันครับ ตลาดมิ่งเมืองที่เคยเป็นตลาดเย็บเสื้อผ้า วันนี้กลายมาเป็น ดิโอลด์ สยาม และถ้าเราอยากพบเจอชาวโก๋วังหลังตัวจริงเสียงจริง เราต้องมาที่ฟู้ดคอร์ทของห้างนี้ เขาบอกกันว่ายังมีโก๋กี๋หลังวังที่มารำลึกความหลัง
ในภายหลังได้เกิดศูนย์การค้าสยามโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำการพัฒนาพื้นที่ตรงข้ามวังสระปทุม และมีการสร้างโรงภาพยนตร์ 3 โรงเช่นกัน คือสยาม ลิโด้ สกาลา และมีการสร้างโรงโบว์ลิ่งตามสมัยนิยม ย่านสยามสแควร์ทำให้ศูนย์การค้าวังบูรพาเสื่อมความนิยมลง สำหรับในปัจจุบันนี้เหลือเพียงคำว่าวังบูรพาเท่านั้น
โรงภาพยนตร์คิงส์กลายเป็นห้างสรรพสินค้าเมอรี่คิงส์ และต่อมาก็ขยายอาคารเข้าไปสู่พื้นที่ของโรงภาพยนตร์แกรนด์ และกลายมาเป็นห้างเมก้าพลาซ่าสะพานเหล็กในเวลานี้
ทั้งหมดนี้คือร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ของยุคที่วังบูรพาเป็นพื้นที่ๆ ทันสมัยที่สุดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนี้ทั้งหมดได้กลายเป็นอดีตไป