
วัดพระศรีสรรเพชญ์กับเรื่องราวที่ยังเป็นข้อถกเถียง พระบรมอัฐิกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใดกันแน่ ที่ถูกบรรจุไว้ในเจดีย์หรือมหาสถูปทั้งสาม จริงหรือไม่ว่า กองทัพพม่าลักทองคำ 700 ล้าน จากวิหารพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก
📸 เที่ยวพระนครศรีอยุธยา เขาเรียกกันว่าเที่ยวเมืองมรดกโลก ต้องมาเที่ยววัดพระศรีสรรเพชญ์ก่อนอื่น เพราะบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์เท่านั้น ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นพื้นที่มรดกโลก (ทั้งที่จริง เกาะเมืองอยุธยาทั้งหมดต่างหาก ที่ควรจะเป็น "เมืองมรดกโลก") มาวัดพระศรีสรรเพชญ์แล้ว ต้องถ่ายภาพกับเจดีย์ใหญ่สามองค์ที่โดดเด่น จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมรดกโลกอยุธยา หรือจะถ่ายภาพกับพระที่นั่งจอมทองที่หลงเหลือทรากผนังอิฐแดงๆ ก็คงได้ภาพถ่ายสวยๆ เช่นกัน
เมื่อพระเจ้าอู่ทอง (กษัตริย์พระองค์แรกแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาพระราชวังหลวงขึ้น พระราชวังหลวงในเวลานั้น คงมีพื้นที่เท่ากับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบันนี้เอง เพราะในเวลานั้นปรากฎรายชื่อพระที่นั่งเพียง 5 องค์
ภาพสันนิษฐาน พระวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ จาก หนังสือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดย กรมศิลปากร เผยแพร่ พ.ศ. 2546
ภาพสันนิษฐาน การประดิษฐานองค์พระศรีสรรเพชญ์ จาก หนังสือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดย กรมศิลปากร เผยแพร่ พ.ศ. 2546
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (กษัตริย์พระองค์ที่ 8 ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ) โปรดฯ ให้ขยับแนวพระราชวังหลวงขึ้นทางทิศเหนือติดริมน้ำ (คลองเมือง หรือ คูขื่อหน้า) พระราชทานเขตพระราชวังเดิมให้เป็นพระอาราม ใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒย์สัตยา เป็นต้น เวลานั้นมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานในพระวิหารหลวง ทางด้านหน้าของเจดีย์ทรงระฆังทั้งสาม ชื่อว่าพระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปหล่อขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีความสูง 8 วา (โดยปกติ 2 วาเท่ากับ 1 เมตร ควรเทียบความสูงได้ 16 เมตร แต่เอกสารบางฉบับระบุว่าพระศรีสรรเพชญ์มีความสูง 11 เมตร) เป็นพระอัฏฐารศของกรุงศรีอยุธยา เพราะมีความสูง 8 วา ใช้ทองคำหุ้มตลอดองค์หนักถึง 286 ชั่ง
อัตราเงินโบราณ 1 ชั่งเท่ากับ 80 บาท ราคาทองคำหุ้มพระศรีสรรเพชญ์จึงมีมูลค่าประมาณ 22,880 บาทในสมัยนั้น (อาจจะหมายถึงบาททองคำด้วย) ดังนั้น ถ้าคำนวณด้วยราคาทองรูปพรรณ 99.99% ที่มีราคาขาย 30,380 บาทในปัจจุบัน มูลค่าทองคำหุ้มองค์พระศรีสรรเพชญ์ จึงทวีมูลค่าเกือบ 700 ล้านบาทเลยทีเดียว
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทองเนื้อเก้า หรือ ทองชมพูนุท เป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์ที่สุด เนื้อทองสวยที่สุด น้ำหนัก 1 บาท มีราคาขายเพียง 9 บาทเท่านั้น ในสมัยอยุธยาคงมีราคาน้อยกว่านี้
เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 กองทัพพม่าบุกเข้าปล้นสดมภ์เมือง สุมไฟหลอมทองพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ ขนเอาทองคำไปจนหมดสิ้น
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ให้อัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์มายังบางกอก มีพระราชดำริให้บูรณปฏิสังขรณ์ แต่สภาพองค์พระชำรุดหนัก จึงโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ที่วัดพระเชตุพน กรุชิ้นส่วนพระศรีสรรเพชญ์ไว้ พระราชทานชื่อว่าเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ ดังนั้น ไม่หลงเหลือหลักฐานแม้แต่น้อยว่า พระศรีสรรเพชญ์มีพุทธลักษณะเช่นไรกันแน่
📸 จากทิศตะวันออก พระเจดีย์ทรงระฆังใหญ่ 3 องค์เรียงตัวไปทางทิศตะวันตก บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ, สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3, สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ตามลำดับ วัดพระศรีสรรเพชญ์จึงเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิบรรพกษัตริย์ถึง 3 พระองค์ด้วยกัน ยังเป็นข้อถกเถียงว่า เจดีย์หรือมหาสถูปทั้งสามอาจถูกสร้างขึ้นพร้อมกัน หรือสร้างขึ้นก่อน 2 องค์ แล้วจึงสร้างองค์ที่ 3 ในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) โดยนักวิชาการรุ่นหลังเสนอแย้งว่า พระเจดีย์หนึ่งในสามนี้ อาจบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จเจ้าสามพระยา
แผนที่พระราชวังโบราณและวัดพระศรีสรรเพชญ์ (สมัยพระเพทราชา) แผนที่นี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุแกมเฟอร์ ทำสำเนาจากหนังสือ อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ เผยแพร่ พ.ศ. 2542
แม้จะเป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แต่แผนผังของวัดพระศรีสรรเพชญ์กลับแปลกไปกว่าวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นด้วยกัน นั่นคือ พระอุโบสถของวัดพระศรีสรรเพชญ์ถูกย้ายจากด้านหลังของระเบียงคด มาอยู่ทางด้านข้างของพระวิหารหลวง ซึ่งถือเป็นตอนหน้าของวัด การย้ายพระอุโบสถคงเกิดขึ้นในสมัยหลัง เพื่อให้เกิดความสมมาตรกับพระที่นั่งจอมทอง (นักวิชาการบางท่านไม่เรียกว่าพระที่นั่ง แต่เรียกว่าพระวิหารราย)
แผนที่กรุงศรีอยุธยา ฉบับ พระยาโบราณราชธานินทร์ ฉบับ พ.ศ. 2469
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า เป็นแม่งานขุดค้นพระราชวังโบราณ การอนุรักษ์ฟื้นฟูพระราชวังรวมถึงโบราณสถานอื่นๆ จึงเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับการจัดทำแผนที่เมืองกรุงเก่า พระยาโบราณราชธานินทร์ใช้เวลาว่างจากหน้าที่สมุหเทศาภิบาล เที่ยวสืบเสาะค้นหาชื่อบ้านนามเมืองที่พ้องกับชื่อสถานที่ในเอกสารเก่าฉบับต่างๆ ทั้งในพระราชพงศาวดาร จนแม้แต่ในบทกลอนกวีที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการแบ่งนักโทษจากเรือนจำนับร้อยคน มาช่วยงานขุดแต่งโบราณสถานจนเป็นผลสำเร็จ
วัดมณฑป เกาะลอย ฟากตรงข้ามตลาดหัวรอ หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประทับยังเกาะลอย (ฟากตรงข้ามตลาดหัวรอ) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท สังเวยมหาราช จัดงานสมโภชนาน 3 วัน 3 คืน จัดการละเล่น โขน หุ่น ละคร ระเบ็ง โมงครุ่ม นอนหอก นอนดาบ ไต่ลวด และอื่นๆ มีการจุดพลุเฉลิมฉลองตลอด 3 คืน มีพระราชดำริให้ใช้พระนครศรีอยุธยาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต้อนรับแขกบ้านต่างเมืองต่อไป
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างเยี่ยมชมโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยา (เจดีย์ภูเขาทอง) ภาพจาก หนังสือสมุดภาพกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนพุทธศักราช 2500 โดย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กระทรวงวัฒนธรรมก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (ยกฐานะจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ) ในเวลานั้นมีมติเห็นชอบให้มีการขุดแต่งโบราณสถานในหลายจังหวัดของประเทศไทย (บ้างว่าเป็นเหตุผลทางการเมือง ที่รัฐบาลต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปที่เรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณีไทยต่างๆ) รัฐบาลไทยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพพม่าสำหรับบูรณะพระมงคลบพิตร (นายกรัฐมนตรีของสหภาพพม่าถึงขั้นเดินทางมาขอขมาทรากปรักหักพังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยตนเอง) เกิดโครงการมูลค่าหลายสิบล้านเพื่อบูรณะโบราณสถานหลายแห่งในอยุธยา รวมถึงวัดพระศรีสรรเพชญ์ การบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานครั้งใหญ่ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินไปจนถึง พ.ศ. 2500 ก็สิ้นสุดลงเมื่อเกิดการรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
วัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นอีกวัดหนึ่งที่ถูกคนร้ายลักลอบโจรกรรม เช่นเดียวกับวัดจำนวนมากในกรุงศรีอยุธยา จนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าผู้โจรกรรมได้ทรัพย์สินหรือศิลปวัตถุใดไปบ้าง.