
ในเวลานั้น พระปรางค์วัดมหาธาตุคงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความสูงที่สุด (เฉพาะในเขตกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยานะครับ)
📸 จุดถ่ายภาพสำคัญของวัดมหาธาตุ คงไม่พ้นภาพเศียรพระพุทธรูปหินทรายถูกโอบด้วยรากไม้ ภาพถ่ายนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทดแทนองค์พระปรางค์วัดมหาธาตุที่ถล่มทลายลง นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเพื่อบันทึกภาพเศียรพระพุทธรูปหินทรายนี้ครับ
วัดมหาธาตุสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในสมัยขุนหลวงพะงั่ว (กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา ผู้มีชื่อเสียงด้านการรบพุ่ง ยกทัพสมทบพระราเมศวรชนะศึกเขมร ตามคำบัญชาของพระเจ้าอู่ทอง) วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีความสำคัญ และมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเมืองกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประจำเมืองมาก่อน ระหว่างขุนหลวงพะงั่วกำลังทรงศีล ณ พระที่นั่ง เวลา 10 ทุ่ม ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุแสดงอภินิหาร โปรดฯ ให้ขุนนางอำมาตย์สร้างมหาธาตุขึ้น ณ บริเวณนั้น
นอกจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว หลายจังหวัดในประเทศไทยก็มี วัดมหาธาตุ, วัดพระธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุ เช่นกันครับ วัดเหล่านี้ต่างเคยเป็นวัดหลวงประจำเมือง มีทั้งที่กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาแล้ว เช่น อยุธยา, ลพบุรี, สุโขทัย ฯลฯ และที่มีพระสงฆ์จำพรรษาก็ยังมี เช่น ราชบุรี, สุพรรณบุรี, นครศรีธรรมราช เป็นต้น
ดัดแปลงจากภาพลายเส้นรูปทรงสันนิษฐานพระปรางค์วัดมหาธาตุ ของกรมศิลปากร
ในปัจจุบัน องค์พระปรางค์วัดมหาธาตุเหลือแต่ฐานปรักหักพัง เช่นที่เคยถล่มลงมาจนถึงชั้นครุฑแล้วครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าทรงธรรม องค์พระปรางค์วัดมหาธาตุ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายองค์พระมหาธาตุให้มีความสูงถึง 50 เมตร (รวมนภศูล เปรียบเทียบความสูงกับอาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน คงสูงเกินอาคารขนาด 15 ชั้นไปเยอะ) จึงขยายส่วนฐานให้กว้างขึ้นเพื่อรับน้ำหนักยอดปรางค์ด้วย
ภาพถ่ายพระปรางค์วัดมหาธาตุ สมัยรัชกาลที่ 5
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังปรากฎภาพถ่ายองค์พระปรางค์วัดมหาธาตุ แบบที่เห็นสมบูรณ์เต็มองค์ แสดงว่าในเวลานั้น องค์พระปรางค์ยังไม่หักโค่นลงมาแต่อย่างใด ข้อมูลของกรมศิลปากรระบุไว้เป็นคำอธิบาย ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ว่าเป็นภาพที่ถูกถ่ายขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 ก่อนจะถล่มลง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2447 ในปีต่อมา
แผนผังโบราณสถานวัดมหาธาตุเป็นเช่นเดียวกับวัดในสมัยอยุธยาตอนต้นทั่วไป มีวิหารหลวงหันหน้าทางทิศตะวันออก อยู่ก่อนปรางค์ประธานที่มีมุขยื่น 4 ด้าน เป็นจัตุรมุข เสริมด้วยเจดีย์มุม 4 ทิศ ช่วยปรับรูปทรงองค์ปรางค์ประธานให้ดูสูงโดดเด่นขึ้น เช่นเดียวกับเจดีย์บริวารจำนวนมากทั้งในและนอกระเบียงคด
สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา
ผอบชั้นในสุด ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ในช่วงปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุอยู่ลึกถึง 20 เมตร ในห้องทรงกากบาทใต้คูหาพระปรางค์ พบของโบราณสำคัญคือผอบศิลาขนาดใหญ่ ภายในมีสถูปหรือองค์เจดีย์จำลองซ้อนกันถึง 7 ชั้น เป็นสถูปจำลองทำจากชิน เงิน นากยอดพลอย ไม้สีดำหุ้มยอดด้วยทองคำ ไม้จันทร์แดงหุ้มยอดด้วยทองคำ แก้วโกเมนซ้อนกัน 3 ชั้น ตามลำดับ ชั้นในสุดเป็นตลับทองคำขนาดเล็ก บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในน้ำมันจันทน์ ลักษณะคล้ายเกล็ดพิมเสน มีขนาดเท่าเศษ 1 ส่วน 3 ของเมล็ดข้าวสาร กรมศิลปากรได้อัญเชิญขึ้นจากกรุ เปิดให้ประชาชนกราบไหว้สักการะ
ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุ วัดมหาธาตุ ประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกรมศิลปากรเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุได้ครับ
โบราณวัตถุที่ค้นพบจากวัดมหาธาตุ
พระปรางค์เล็กที่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง
จากการบูรณะของกรมศิลปากร พบภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในองค์พระปรางค์ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน เขียนเป็นภาพพระประธานใหญ่เต็มผนังในซุ้มเรือนแก้ว ยังมีภาพประกอบอื่นๆ เป็นรูปแบบงานจิตรกรรมที่ได้รับความนิยมมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
เจดีย์แปดเหลี่ยม
📸 เพราะเป็นวัดสำคัญอันดับต้นๆ ของกรุงศรีอยุธยา วัดมหาธาตุจึงมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมมากมายหลายยุคสมัย มีเจดีย์องค์หนึ่งแปลกประหลาดไม่เหมือนเจดีย์อื่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปรางค์ประธาน เรียกในชื่อเล่นๆ ว่าเจดีย์ 8 เหลี่ยม เพราะมีลักษณะเป็นฐานทรงแปดเหลี่ยม แต่ละชั้นลดหลั่นกัน ประดับปูนปั้นรูปเทพพนมรอบแต่ละชั้น สภาพปัจจุบันเหมือนภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ผิดเพี้ยน อย่าลืมแวะมาถ่ายภาพคู่กับเจดีย์ 8 เหลี่ยมองค์นี้ด้วยนะครับ
เที่ยวอยุธยาเป็นสิริมงคลแก่ตัว อยากรู้เรื่องราวของวัดใดๆ ในอยุธยา สามารถพิมพ์ชื่อวัดด้วยเครื่องมือการค้นหาภายในเว็บไซต์ Sookjai วันหยุด ได้ทันที