
วัดราชบูรณะ วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในจุดเข้าชมเมืองเก่าอยุธยา ที่ Sookjai วันหยุด จะพาย้อนรอยเหตุการณ์โจรกรรมสมบัติเจ้าสามพระยาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเครื่องทองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยึดคืนจากคนร้ายที่ลักลอบโจรกรรมกรุสมบัติใต้พระปรางค์ ที่มีมูลค่าสูงถึง 1,158,270 บาท (ตามราคาทองคำในสมัย พ.ศ. 2499-2500) ยังไม่นับรวมทองคำและทรัพย์สมบัติอื่นๆ ที่สูญหายไปอย่างมหาศาลนะครับ
ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ราคาก๊วยเตี๋ยวขายกันชามละ 50 สตางค์ ปัจจุบันเพิ่มมูลค่าขึ้นประมาณ 80 เท่า (คิดจากราคาก๊วยเตี๋ยวปัจจุบันชามละ 40 บาท) ทองที่ยึดคืนจากการโจรกรรม เคยได้รับการตีมูลค่าพร้อมค่ากำเหน็จปานกลางที่ 1 ล้านกว่าบาท กลายมาเป็น 92 ล้านบาทในวันนี้
จึงต้องเรียกว่าเป็นการโจรกรรมสมบัติอยุธยาครั้งใหญ่จริงๆ
📸 วัดราชบูรณะอยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุแค่ถนนนเรศวรกั้น ถนนนเรศวรเป็นแนวถนนอิฐโบราณของกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกถนนตลาดเจ้าพรหมต่อกับถนนป่าถ่าน วัดราชบูรณะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวัดมหาธาตุ เพราะเป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนต้นและเป็นวัดหลวงเช่นเดียวกัน นักท่องที่ยวสามารถถ่ายภาพองค์พระปรางค์ที่โดดเด่น ณ จุดเริ่มต้นการชมเมืองเก่าที่สำคัญจุดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ลองเลือกถ่ายภาพกับวิหารหลวงที่เหลือผนังสมบูรณ์มากพอ และยังเห็นถึงโครงสร้างอาคารในอดีต
ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมัยเจ้านครอินทร์ (กษัตริย์พระองค์ที่ 6 ของกรุงศรีอยุธยา) หลังเสร็จศึกจราจลเมืองเหนือ เสด็จกลับจากเมืองนครสวรรค์แล้ว (สมัยนั้นเรียกเมืองพระบาง) โปรดฯ ให้พระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ทรงครองเมืองต่างๆ ที่อยู่ในอำนาจ เจ้าอ้ายพระยากินเมืองสุพรรณบุรี, เจ้ายี่ (ญี่) พระยากินเมืองแพรกศรีราชา (เมืองสรรค์, เมืองสรรคบุรี), เจ้าสามพระยากินเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) ภายหลังเจ้านครอินทร์สวรรคตด้วยพระอาการประชวร เจ้าอ้ายกับเจ้ายี่จึงชิงราชสมบัติกัน
วัดพลับพลาไชย ถนนป่ามะพร้าว
เจ้าอ้ายพระยาตั้งทัพอยู่วัดพลับพลาไชย (ถนนป่ามะพร้าว ยังปรากฎชื่อในแผนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน) เจ้ายี่พระยาตั้งทัพอยู่วัดไชยภูมิ ใกล้ตลาดเจ้าพรหม (แผนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีคำว่าวัดไชยภูมิมาก่อน) ทั้งสองพระองค์ยกทัพชนช้างศึกโดยพระแสงของ้าว ถึงขาดคอช้างทั้งสองพระองค์ ขุนนางอำมาตย์เชิญเสด็จเจ้าสามพระยาขึ้นครองราชย์
เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่
คราวนั้น เจ้าสามพระยาโปรดฯ ให้ขุดพระศพเจ้าอ้ายเจ้ายี่ขึ้นถวายพระเพลิง สร้างเจดีย์สององค์คู่กัน ณ สะพานป่าถ่าน ที่ทั้งสองพระองค์ชนช้างศึก ปัจจุบันหลงเหลือฐานเจดีย์สององค์ในช่วงถนนนเรศวรตัดกับถนนชีกุน ตรงบริเวณหน้าวัดราชบูรณะ โปรดฯ ให้สถาปนาพระเจดีย์มหาธาตุบริเวณถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายเจ้ายี่ และพระวิหารเป็นพระอารามขึ้น พระราชทานชื่อว่าวัดราชบูรณะ
ในรัชสมัยของพระองค์ เจ้าสามพระยายกทัพไปตีนครหลวงของเขมร สามารถยึดเมืองได้เป็นครั้งที่ 3 จนทำให้เขมรต้องถอยร่นไปตั้งศูนย์กลางอยู่ที่ปาสานและพนมเปญตามลำดับ
คำว่า สถาปนาวัดราชบูรณะ ในที่นี้ อาจหมายถึงการสถาปนาวัดเก่าที่มีอยู่แต่เดิม ให้เป็นวัดประจำรัชสมัย โดยชื่อวัด "ราชบูรณะ" เอง ก็เป็นข้อสังเกตหนึ่งสำหรับเรื่องนี้
ผังวัดราชบูรณะ จากภาพประกอบหนังสือ จิตรกรรม และศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกรมศิลปากร เผยแพร่ปี พ.ศ. 2501
วัดราชบูรณะหันหน้าออกทางทิศตะวันออกด้านถนนชีกุน (ถนนสายนี้เดิมเป็นคลองเชื่อมบึงชีขันหรือบึงพระรามขนานถนนดิน ยาวไปออกคูขื่อหน้าทางทิศเหนือของเมือง) วิหารหลวงเชื่อมกับระเบียงคดตามแบบอย่างวัดสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนพระอุโบสถอยู่ทางด้านหลัง หันหน้าออกทางทิศตะวันตก ภายในระเบียงคดมีพระปรางค์องค์ใหญ่ มีผู้สันนิษฐานว่าเคยเป็นปรางค์สามองค์ต่อกันด้วยปีกปรางค์ (หรือพัฒนามาจากทรงปรางค์สามองค์นั่นเอง)
เจดีย์หมายเลข 4 ที่เคยปรากฎมีภาพจิตรกรรม
ในหนังสือ "จิตรกรรม และศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" โดยกรมศิลปากร เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2501 หลังการขุดกรุวัดราชบูรณะไม่ถึง 1 ปี ระบุว่า ในคูหาเจดีย์องค์หลังวิหารราย ทางเหนือของพระวิหารหลวง เคยมีภาพเขียนสีบนฝาผนัง เป็นภาพเขียนสีสมัยอยุธยา (ปัจจุบัน เจดีย์หมายเลข 4 ที่ว่านี้ เหลือเพียงฐานเท่านั้น) อ. มานิต วัลลิโภดม ระบุว่าเจดีย์ได้พังทลายลงเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา (จากปี พ.ศ. 2500-2501) อ้างถึง อ. เฟื้อ หริพิทักษ์ ว่า เคยคัดลอกลวดลายจิตรกรรมดังกล่าว นำมาเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาพแถวพระพุทธรูปที่มีการเขียนแบบกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ราว พ.ศ. 1900)
ในราว พ.ศ. 2500 เกิดกรณีลักลอบขุดกรุสมบัติครั้งใหญ่ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าร่วมกระทำการโจรกรรมด้วย นายพันตำรวจ วุฒิ สมุทรประภูติ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เข้าร้องเรียนต่ออธิบดีกรมศิลปากรถึงเรื่องดังกล่าว นาย กฤษ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงสำรวจกรุด้วยตนเอง สามารถนำทรัพย์สินมีค่าขึ้นจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะได้มากถึง 2,121 รายการ เจ้าหน้าที่ตำรวจมอบหมายให้ร้านทอง เบ๊ลี่แซ สะพานหัน ช่วยตีราคาทองคำพร้อมค่ากำเหน็จปานกลาง เฉพาะเครื่องทองที่ยึดคืนจากคนร้ายที่ทำการโจรกรรมได้ ปรากฎมีมูลค่าถึง 1,158,270 บาท ในสมัยนั้น
จารึกอักษรจีนบนแผ่นพระพิมพ์ซุ้มเสมาทิศ ดัดแปลงจากภาพถ่ายของฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ตัวอย่างพระพิมพ์ในกรุเจดีย์ต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา
ที่น่าสนใจ คือการค้นพบอักษรอาหรับบนเหรียญทอง, จารึกอักษรจีนบนแผ่นพระพิมพ์ซุ้มเสมาทิศ (เขียนถึงยุคสมัยไต้เหม็งก๊กของจีน) รวมถึงพระพิมพ์แผ่นทองคำดุนนูนจำนวนมากที่มีจารึกด้านหลัง สาเหตุที่พบพระพิมพ์ดุนนูนเหล่านี้ เป็นเพราะชาวกรุงศรีอยุธยามีคตินิยมการสร้างพระพิมพ์เท่าอายุของตน โดยนับจำนวนวัน ไม่ใช่นับจำนวนปี หากมีอายุ 1 ขวบ ให้ทำพระพิมพ์แผ่นทองจำนวน 365 องค์ ดังนั้น แต่ละคนที่ร่วมกรุทรัพย์สมบัติลงสู่พระปรางค์ ต้องสร้างพระพิมพ์มากเป็นหมื่นเป็นแสนองค์ ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวกรุงศรีอยุธยาต่างหวังนิพพานและเกิดใหม่ในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์แทบทุกคน
เมื่อมีคติแบบนี้แล้ว ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ต้องเคยมีพระพิมพ์ดุนนูนมากเป็นแสนหรือล้านๆ องค์เลยทีเดียว
การทำบุญเพื่อต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วยการกรุทรัพย์สมบัติลงเจดีย์ต่างๆ เป็นเรื่องนิยมมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยหวังว่าในภายภาคหน้า หากศาสนาเสื่อมลง ผู้คนค้นพบแก้วแหวนเงินทองที่ฝังไว้ในกรุ จะช่วยกันนำทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปใช้สร้างวัดสร้างเจดีย์ ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ ชาวอยุธยาถือว่าเป็นบุญสูง
พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จทอดพระเนตรโบราณวัตถุจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ภาพจากหนังสือ จิตรกรรม และศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกรมศิลปากร เผยแพร่ปี พ.ศ. 2501
พระแสงขรรค์ชัยศรี เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พระคชาธารจำลอง เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
สำหรับสิ่งของมีค่าอื่นๆ เช่นพระแสงขรรค์ชัยศรี (พระแสงดาบประจำพระองค์) เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง พระมาลาทองคำ เครื่องทรงกษัตริย์ เครื่องราชูปโภคงานทองปราณีตสมัยอยุธยาตอนต้น ที่อาจจะเป็นทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ของเจ้าสามพระยาหรือเครือญาติของพระองค์ ที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไปก่อนหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยนั้นสามารถติดตามยึดคืนมาได้เกือบครบทั้งหมด
ยังขาดเพียงพระมหาพิชัยมงกุฏที่หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
ทางลงกรุภายในคูหาพระปรางค์
ตัวอย่างลายหรูอี้ หรือ ยู่อี่ บนเพดานกรุชั้นที่ 2
📸 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมและปฎิมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลานั้น เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วมร่วมในการตรวจสอบและร่วมพิจารณารูปแบบทางศิลปกรรมที่ปรากฏในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อ. ศิลป์ เขียนเล่าไว้ว่า จิตรกรรมฝาผนังใต้คูหาพระปรางค์วัดราชบูรณะ ช้ันที่ 2 มีการเขียนรูปคน รูปสัตว์ และลวดลายดอกไม้เต็มไปหมด ทั้งบนพื้นผนัง ซุ้มคูหาทั้ง 4 และเพดานของกรุเขียนเป็นรูปทรงกลมคล้ายดอกมะลิบาน ล้อมด้วยวงกลมปิดทอง บางวงมีรูปพระพุทธรูปนั่งขนาดเล็กปรากฎอยู่ด้วย มีความเห็นว่าการใช้สีแดงเสนที่ถือเป็นสีแดงสด สามารถขับเน้นสีทองอร่ามของวัตถุมีค่าภายในกรุให้ทอประกายงดงามยิ่งกว่าเดิม แม้จะเขียนภาพในกรุพระปรางค์ที่อาจจะไม่มีคนได้พบเห็น แต่ศิลปินยังทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างปราณีตวิจิตรที่สุด ส่วนผนังกรุบางส่วนเขียนเป็นภาพเล่าเรื่องชาดกและพุทธประวัติ
📸 แม้ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จะไม่เล่าถึงภาพจิตรกรรมในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ ชั้นที่ 1 เลย แต่ในกรุชั้นที่ 1 ปรากฏภาพวาดเทพเทวดาไทยที่มีลวดลายประกอบอย่างจิตรกรรมจีน อีกทั้งมีภาพชาวจีนสวมหมวกดูคล้ายกุ๊กกำลังเสิร์ฟอาหารอีกด้วย
ท่องเที่ยวอยุธยาไหว้พระหลากหลายวัด เดินเที่ยวชมโบราณสถานแห่งใด หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นเปิดเว็บไซต์ sookjai วันหยุด (ยูอาร์แอลง่ายๆ sookjai.club เพิ่มไว้บนหน้าจอมือถือแล้วจะกลายเป็นแอพพลิเคชั่นท่องเที่ยวแบบคูลๆ เลย) ลองพิมพ์คำว่าอยุธยาสั้นๆ ข้อมูลท่องเที่ยว ที่พัก ของอร่อย มากมายรอให้เปิดอ่าน เที่ยวไปอ่านไปได้ประโยชน์กับการท่องเที่ยวของคุณแน่นอนครับ