
วัดไชยวัฒนาราม ตันตำรับเที่ยววัดอยุธยาสวมชุดไทยถ่ายรูปสวย Sookjai วันหยุด ชวนเที่ยวอยุธยา (อีกแล้ว) คราวนี้นำเที่ยววัดสำคัญพร้อมแอบกระซิบความลับเรื่องชาติกำเนิดพระเจ้าปราสาททองด้วย
📸 ถ้าอยากไหว้พระด้วย ใส่ชุดไทยเดินถ่ายภาพเซลฟี่สวยๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ก็ต้องมาเที่ยววัดไชยวัฒนาราม วัดนี้อยู่นอกเกาะเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ ในละแวกวัดไชยวัฒนารามมีร้านบริการเช่าชุดไทยหลายร้าน แถมมีร้านก๊วยเตี๋ยวเรือเจ้าอร่อย ให้นั่งเล่นเย็นใจในวันแดดร้อนอีกด้วย โบราณสถานแห่งนี้มีมุมถ่ายภาพหลากหลายให้เลือก ใช้เวลาเดินเล่นถ่ายภาพได้นานเป็นชั่วโมง หรือจะเช่าเรือล่องมาเที่ยวในช่วงเย็นย่ำสนธยา หามุมถ่ายภาพย้อนแสงสวยๆ กับองค์พระปรางค์ก็ยังได้ เพราะวัดไชยวัฒนารามเป็นจุดถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ
เจดีย์เจ้าฟ้ากุ้ง
วัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายแห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นผู้ทรงสถาปนาขึ้น บนบริเวณที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเคยเป็นบ้านเดิมของพระราชชนนี (หรืออาจจะเป็นถิ่นฐานประทับเดิมของพระเจ้าปราสาททองเองด้วย) เมื่อเกิดการทำนายว่าจะเกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา ชาววังขนย้ายข้าวของมาพักไว้ที่วัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ ด้วยความเป็นวัดสำคัญและเป็นสถานที่ปลงพระศพเชื้อพระวงศ์ในหลายรัชกาล จึงสันนิษฐานกันว่า อาจจะเป็นสถานที่ฝังพระศพเจ้าฟ้ากุ้ง หรือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กับ เจ้าฟ้าสังวาลย์ (กรณีเป็นชู้เจ้าฟ้านิ่ม, เจ้าฟ้าสังวาลย์ ในเขตพระราชวังหลายหน ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระอัฐิของทั้งสองพระองค์อาจจะถูกบรรจุไว้ในเจดีย์ทรงระฆังองค์ใหญ่, องค์เล็กตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเฉพาะเจดีย์องค์ใหญ่ องค์เล็กเหลือแต่ฐานแล้วครับ) เมื่อถึงคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดไชยวัฒนารามเป็นค่ายรบพม่าที่สำคัญแห่งหนึ่ง สามารถสู้รบต้านทานพม่าได้นานถึง 9 วัน 9 คืนด้วยกัน
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันยังมองเห็นเค้าโครงความยิ่งใหญ่งดงามในอดีต แผนผังของวัดมีพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งเป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยปรางค์ประจำทิศ 4 องค์ ระเบียงคดทำเป็นเมรุทิศ, เมรุราย รวม 8 ยอด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง (แต่งองค์อย่างกษัตริย์) 1 องค์บ้าง 2 องค์บ้าง ด้านหน้าระเบียงคดมีพระอุโบสถหันหน้าออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีกำแพงชั้นกลาง ชั้นนอก มีทางเดินฉนวน (ทางพระราชดำเนินสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เชื้อพระวงศ์ และขบวนผู้ตามเสด็จ)
ศาลเจ้าแม่ดุสิต
ภาพปูนปั้นผนังด้านนอกพระเมรุ ตอนโปรดพุทธมารดา
จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากร พบว่าเคยมีภาพจิตกรรมเขียนเป็นลวดลายประดับภายในยอดเมรุ มีงานประติมากรรมปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ 12 ตอน หลงเหลือเพียงเล็กน้อย แนะนำชมงานประติมากรรมประดับผนังด้านนอกพระเมรุ โดยเฉพาะพระเมรุด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพระมารดาและตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ส่วนทางด้านทิศเหนือ ระหว่างกำแพงชั้นนอกกับกำแพงชั้นกลาง มีปรางค์เล็กองค์หนึ่ง คนอยุธยาเรียกกันว่าศาลเจ้าแม่ดุสิต
สำหรับพระราชประวัติของพระเจ้าปราสาททอง บางตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสอย่างลับๆ ของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่เกิดกับสาวชาวบ้านบนเกาะบางนางอิน (บางปะอิน) ได้ทรงพระราชทานโอรสให้แก่พระญาติช่วยเลี้ยงดูจนเติบใหญ่เป็นพระมหากษัตริย์ในภายหลัง สำหรับชื่อพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยมีพระวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงสร้างพระปรางค์ยอดทองเป็นองค์แรกในกรุงศรีอยุธยา ประชาชนจึงนิยมเรียกพระนามนี้ตลอดมานั่นเอง