
เที่ยวอยุธยาเมืองอินเตอร์ กับ Sookjai วันหยุด โดย สวัสดี ออนไลน์ สำนักพิมพ์ ราชอาณาจักรใหญ่ในอดีต 417 ปีแห่งการสู้รบและการค้า มีสายสัมพันธ์โยงใยผู้คนหลากชาติหลายภาษา แม้จะเป็นอดีตไปแล้วเมื่อถูกพม่าเผาทำลาย แต่ยังเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้เดินทางศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะร่องรอยชุมชนชาวต่างชาติที่มีอยู่มากมายในกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนสถานีการค้าฮอลันดา, หมู่บ้านญี่ปุ่น หรือหมู่บ้านโปรตุเกส ที่ Sookjai วันหยุด จะพาเดินทางท่องเที่ยว อย่างเข้าอกเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชมต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา
สถานีการค้าฮอลันดา
กอ่นอื่นขอทำความเข้าใจว่า หมู่บ้านทั้งหมดนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ถ้าเริ่มจากสังเกตเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นแลนด์มาร์ค ตรงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเข้าสถานีการค้าฮอลันดาอยู่ในละแวกวัดพนัญเชิง อาจจะเป็นทางเข้าแบบลึกลับๆ หน่อย ถ้าหาไม่เจอะให้ลองถามคนแถวนั้น เพราะแม้แต่ป้ายบอกทางก็ยังพางงครับ เอาเป็นว่าถ้าเห็นอู่ต่อเรือไม้ขนาดเล็ก แสดงว่ามาถูกทาง
บอกก่อนว่า สถานีการค้าฮอลันดาหรืออาณานิคมชาวฮอลันดาในปัจจุบัน เหลือเพียงทรากฐานอาคารก่ออิฐเพียงนิดเดียวเท่านั้น แต่ได้สร้างอาคารหลังใหม่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการแล้ว โดยเรื่องราวในอาคารนิทรรศการจะบอกเล่าถึงเรื่องราวของชุมชนชาวฮอลันดา (จะเรียกเนเธอร์แลนด์, ดัตช์, หรือฮอลแลนด์ก็ได้นะ) ตัวอาคารหลังใหม่เป็นอาคารสองชั้น สีสันสวยสดงดงาม ตั้งอยู่รอมแม่น้ำเจ้าพระยา อากาศดีลมเย็นชื่นใจ
สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ของชาวฮอลันดา เป็นแผ่นดินที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 4 เมตร แต่ชาวฮอลันดาในอดีตกลับเป็นผู้กุมเกมการค้าทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยานะครับ บริษัทวีโอซีของฮอลันดามีเรือเดินทะเลมากถึง 5,000 ลำ มีลูกจ้างเฉพาะในเอเชียเกือบ 1 ล้านคน ทำการขนส่งสินค้ามากว่า 2.5 ล้านตันไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก สินค้าที่มีความสำคัญมากในเวลานั้นก็คือ ดีบุก ชาจีน เครื่องเทศ และอื่นๆ
ดังคำพังเพยโบราณของชาวฮอลันดาที่กล่าวไว้ว่า "สิ่งที่มาจากแดนไกลที่สุด ย่อมดีที่สุด"
กว่าที่ชาวฮอลันดาจะเข้ามาติดต่อการค้ากับกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรก ก็ลุเข้าสู่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว (ช้ากว่าพวกโปรตุเกสตั้งเยอะ) ทีแรกชาวฮอลันดาตั้งใจจะขอติดตามเรือสำเภาจากอยุธยาไปยังประเทศจีน หวังเปิดตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่ด้วยความเป็นสังคมนานาชาติของอยุธยา ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดฯ ให้พวกฮอลันดาตั้งสถานีการค้าแห่งแรกขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาเสียก่อน (ปัจจุบันไม่ทราบว่าตั้งอยู่ตรงไหนนะครับ) ต่อมาในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้พระราชทานที่ดินผืนใหญ่ให้กับบริษัทวีโอซี โปรดฯ ให้ก่อตั้งเป็นสถานีการค้าถาวร ตอบแทนที่ให้ความช่วยเหลือด้านการทหารเมื่อคราวเกิดข้อพิพาทกับรัฐปัตตานี
จำนวนผู้อาศัยในอาณานิคมฮอลันดาแห่งนี้ก็ไม่ใช่น้อยๆ ครับ แต่เป็นชุมชนที่มีสมาชิกมากถึง 1,500 คนเลยทีเดียว มีตลาดสำหรับค้าขายกันเองภายในชุมชนด้วย จึงกลายเป็นชุมชนใหญ่ทางตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา มีอาคารหลักของสถานีการค้า และมีที่พักของเจ้าหน้าที่ต่างๆ มีโกดังสินค้า ห้องเหล้า โรงครัว โรงตีเหล็ก คอกม้า เล้าสัตว์ และกระทั่งสุสาน
ในปัจจุบันนี้ หลงเหลือทรากอาคารสถานีการค้าฮอลันดาเพียงแห่งเดียว ที่ติดป้ายทองเหลืองบ่งบอกว่าเป็นที่ตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา
"อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย" สุภาษิตนี้ใช้ได้แต่ไหนแต่ไร นอกจากจะนำวิทยาการแปลกใหม่เข้าสู่สยามแล้ว ชาววีโอซียังมีบทบาทอย่างมากต่อราชสำนักกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในการจัดหาช่างฝีมือ เช่นช่างทอง หรือนำการแพทย์จากต่างประเทศเข้ามายังกรุงศรีฯ การขนส่งม้าหลายร้อยตัวที่พระมหากษัตริย์ทรงสั่งซื้อจากชวา รวมไปถึงกลุ่มพระสงฆ์ที่เดินทางไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ต่างได้อาศัยเดินทางไปกับเรือของวีโอซีนี่เอง นอกจากนี้บริษัทฮอลันดายังให้ราชสำนักหรือขุนน้ำขุนนางได้ทดลองหยิบยืมอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ อีกด้วย
ประมาณปี พ.ศ. 2308 กองทัพพม่าเข้ายึดบางกอก ขยับเข้าชิดสถานีการค้าฮอลันดา นายสถานีในเวลานั้นตัดสินใจจัดการอพยพผู้คนไปสู่เมืองปัตตาเวีย กระทั่งหลังปี พ.ศ. 2310 ไปแล้ว จึงได้ทราบข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาถูกเพลิงเผามอดไหม้ จนไม่อาจฟื้นคืนสภาพได้อีก
หมู่บ้านญี่ปุ่น
สำหรับหมู่บ้านญี่ปุ่น ต้องเดินทางจากวัดพนัญเชิงโดยเลาะแนวแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ จนเกือบถึงสะพานอโยธยาจะมีทางเข้าใหญ่โตบอกว่าเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น เลี้ยวเข้ามาซื้อบัตรเข้าชมได้เลย เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีมุมสวยๆ เพิ่มให้เซลฟี่มากมาย มีสวนเซนให้นั่งเล่นเย็นใจ หมู่บ้านนี้อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน มาแล้วอย่าลืมนั่งคาเฟ่ สั่งมัทฉะลาเต้มาดื่มสักแก้ว ดื่มค์ชาเขียวที่ไหนจะเท่ากับดื่มที่หมู่บ้านญี่ปุ่น ชาเขียวอร่อยของแท้รับรองได้ ถ้าไม่อร่อยไม่รู้จะไปดื่มที่ไหนแล้วครับ
ชาวญี่ปุ่นเริ่มทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระมหาธรรมราชา (ก่อนสมัยพระนเรศวรมหาราช จึงมาก่อนชาวฮอลันดาหนึ่งรัชกาล) แต่เข้ามาก่อตั้งชุมชนครั้งแรกในสมัยพระนเรศวรเช่นเดียวกับชาวฮอลันดานี่เอง ในยุครุ่งเรืองมีชาวญี่ปุ่นในหมู่บ้านประมาณ 1,000-1,500 คนพอๆ กัน
เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โปรดฯ ให้เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น และหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่น คือ ยามาดะ นางามาซะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อปราบกบฏเมืองใต้ หลังจากนั้น พระเจ้าปราสาททองได้เผาทำลายหมู่บ้านญี่ปุ่นที่อยุธยา โดยชาวญี่ปุ่นได้อพยพไปก่อนแล้ว
นางามาซะ เป็นชาวเมืองนาโงย่า เกิดในสมัยเอโดะ เดินทางมายังไต้หวันกับเรือสำเภาญี่ปุ่น และเดินทางต่อมายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ได้เป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ศักดินาหนึ่งพัน มีทหารอาชีพในสังกัด 800 คน นอกจากนี้นางามาซะยังเป็นพ่อค้าคนกลาง ส่งสินค้าของกรุงศรีอยุธยาไปขายต่างประเทศ หลังจากได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็เสียชีวิตลงภายในปีนั้นเอง
ใครไปเที่ยวลพบุรีบ่อยครั้ง หรือชอบดูละคร "บุพเพสันนิวาส" คงคุ้นเคยชื่อนาย คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าสมัยพระนารายณ์ สามีของท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ เดอ ปีมา ลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ผู้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องริเริ่มทำขนมหวานต่างๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่หมู่บ้านญี่ปุ่นก็ได้จัดแสดงนิทรรศการในส่วนนี้ไว้ด้วย เพราะถือว่าท้าวทองกีบม้าเป็นลูกหลานคนญี่ปุ่นในอยุธยาเช่นกันครับ
หมู่บ้านโปรตุเกส
สำหรับหมู่บ้านโปรตุเกส ต้องเดินทางตามแนวแม่น้ำลงไปอีกเล็กน้อย พอเจอะทางแยก เลี้ยวขวาข้ามสะพานอโยธยาไปอีกฝั่งได้เลย ถ้าลากเส้นจากฝั่งหมู่บ้านญี่ปุ่น ก็แทบจะอยู่ตรงข้ามกัน เพียงแต่มีแม่น้ำเจ้าพระยากั้นไว้เท่านั้น
ชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เข้าเป็นทหารอาสาช่วยรบในศึกเชียงกราน ต่อมา พระไชยราชาธิราช พระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนชาวโปรตุเกส โปรดฯ ให้ปฏิบัติศาสนกิจได้โดยเสรี กลายเป็นชุมชนชาวตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา มีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 คน เป็นทั้งทหารอาสา ช่างต่อเรือ ทำธุรกิจการค้า ส่วนใหญ่เป็นลูกผสมหลายเชื้อชาติ ไม่ใช่ชาวโปรตุเกสแท้
ใครมาเที่ยวหมู่บ้านโปรตุเกส คงเห็นอาคารโบสถ์นักบุญเปรโต คณะโดมินิกัน (เซนต์โดมินิค) หนึ่งในสามโบสถ์คริสต์ที่เคยตั้งอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ที่พอเดินเข้ามาภายในไม่เห็นจะเหมือนโบสถ์คริสต์สักนิด แต่เหมือนสุสานฝังศพ เพราะขุดเจอโครงกระดูกไม่ต่ำกว่า 200 โครงขึ้นไป
ชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในอยุธยาอย่างสงบสุข กระทั่งกองทัพพม่าบุกเข้าเผาทำลายหมู่บ้านชาวยุโรปต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือชุมชนโปรตุเกส ทหารพม่าเที่ยวรื้อทำลายโบสถ์คริสต์ ปล้มสะดมภ์ทรัพย์สิน หมู่บ้านชาวโปรตุเกสอยู่คู่กับกรุงศรีอยุธยาอย่างยาวนานถึง 227 ปี ต้องมาล่มสลายลงพร้อมกัน ชาวโปรตุเกสที่อพยพหลบหนีภัยสงครามครั้งนั้น ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมทัพกับพระเจ้าตากสิน มีส่วนร่วมในการบุกเข้าตีกองทัพพม่า จนสามารถสร้างบ้านแปงเมืองได้สำเร็จอีกครั้ง
บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้รวบรวมชาวโปรตุเกส เดินทางอพยพมาก่อร่างชุมชนใหม่ที่ฝั่งธน-กรุงเทพ กลายเป็นชุมชนโบสถ์ซางตาครูซ หรือชุมชนกุฎีจีน มีการทำขนมฝรั่งอร่อยๆ เรียกว่าขนมฝรั่งกุฎีจีน ภายหลังได้แตกออกไปสร้างโบสถ์กาลหว่าร์ หรือกาลวาเรโอ ที่ตลาดน้อยอีกแห่งหนึ่ง
เชื่อไหมครับว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภาษาราชการที่ขุนนางกรุงศรีอยุธยาใช้ติดต่อกับชนชาติอื่น โดยเฉพาะฝรั่งยุโรป ยังใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นหลัก บาทหลวงที่เดินทางเข้ามาในอยุธยาได้เขียนเล่าไว้ว่า ขุนนางอยุธยาพูดภาษาโปรตุเกสได้ทุกคน จนแม้แต่คนฝรั่งเศสเองยังต้องฝึกการใช้ภาษาโปรตุเกส จึงจะสามารถสื่อสารกับขุนนางอยุธยาได้
การเข้ามาของโปรตุเกสก็เข้ามาพร้อมกับวิทยาการใหม่ๆ เช่นเดียวกับชนชาติอื่นๆ ทั้งการตั้งป้อมปราการ การสร้างกำแพงเมืองที่แข็งแรง ล้วนเป็นสิ่งที่กรุงศรีอยุธยาได้จากชาวโปรตุเกส แถมยังทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรม เช่น ภาษาและอาหารไว้อีกด้วย
เดินเที่ยวแค่ 3 หมู่บ้านก็เหนื่อยพอแรงแล้ว ด้วยความเป็นเมืองอินเตอร์เนชั่นแนลของกรุงศรีอยุธยา ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก ทำให้มีคนต่างชาติต่างภาษาอีกหลายสิบชนชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยค้าขายทำมาหากิน เพราะโดยหลักฐานแล้ว ยังมีทั้งหมู่บ้านชาวอังกฤษ ชาวเวียดนาม ชาวจีน และชนชาติอื่นๆ เพียงแต่ไม่ได้ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับหมู่บ้านทั้ง 3 แห่งนี้ครับ.