
เที่ยวภูเก็ตเมืองเก่าครั้งแรก คงต้องย้อนเวลาไปนานหน่อยล่ะครับงานนี้ เคยได้เดินเที่ยวเมืองเก่าภูเก็ตกับเขาเหมือนกัน ตอนนั้นเมืองเก่านี้เก่าจริงๆ เป็นแนวบ้านเก่าๆ ทรุดโทรม ตามตรอกซอกซอยยังไม่ค่อยมีคนมาเดินเที่ยว แม้แต่รถจะวิ่งเข้ามายังน้อยคันอยู่ ร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรมที่พักมีไม่มากไม่มายเหมือนตอนนี้ ตอนนั้นซอยรมณีย์ยังเงียบๆ อยู่ ยังได้ฟังเรื่องเล่าจากอาม่าท่านหนึ่ง ที่บอกถึงซอยรมณีย์ว่าเคยเป็นแหล่งเริงรมย์แหล่งใหญ่ของภูเก็ต
โอ้โห แต่ลองมาดูตอนนี้สิครับ เมืองเก่าภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวไปแล้ว ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเหล้า ผับบาร์ คาเฟ่ ผุดขึ้นเต็มเมืองเก่า ดูก็คล้ายฟามงูเลาที่โฮจิมินห์ ซิตี้ หรือถนนข้าวสารบ้านเรา พอเป็นแบบนี้ นักท่องเที่ยวก็เดินกันคึกครื้น ได้บรรยากาศการค้าคึกคัก ตามสไตล์เมืองเก่าที่ไม่ร้างผู้คน ใช่ว่าจะอนุรักษ์อย่างเดียวจนไร้ชีวิตชีวา
ไหนๆ มาเที่ยวภูเก็ตแล้ว แวะมาเดินถ่ายรูปเล่นเย็นใจ มีทั้งอาหารอร่อย ร้านคาเฟ่เย็นๆ ให้นั่งจิบชากาแฟ ไปเดินเที่ยวด้วยกันกับ Sookjai วันหยุด นะครับ
มิวเซียมภูเก็ต
บางคนบอกว่าไม่ชอบพิพิธภัณฑ์นะ แต่ไม่เป็นไรครับ แวะมาถ่ายภาพด้านนอกก็ยังดี เพราะอาคารสองหลังนี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเก่าภูเก็ตมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
อาคารสองหลังที่ว่าตั้งอยู่คนละฟากหัวมุมถนนพังงาครับ ตอนนี้ถูกเรียกในชื่อภูเก็ตนครา กับ เพอรานากันนิทัศน์ รวมกันเข้าเป็นมิวเซียมภูเก็ต หรือ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ต ดำเนินการโดย มิวเซียมสยาม เจ้าเดียวกับท่าเตียนนั่นล่ะครับ อาคารด้านซ้ายมือมีหอนาฬิกาเรียกกันว่าหอส่องเมือง เคยเป็นสถานีตำรวจตำบลตลาดใหญ่มาก่อน ส่วนอาคารฟากตรงข้ามเป็นสาขาแห่งแรกๆ ของธนาคารแสดนดาร์ดชาเตอร์ในปัจจุบัน
การเจริญขึ้นของธุรกิจเหมืองแร่ในภูเก็ตไม่ธรรมดาครับ เพราะฟู่ฟ่าถึงขนาดเกิดสาขาออฟชอร์แบ้งค์ขึ้น ตั้งแต่ยุคพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซอมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ราวๆ สมัยรัชกาลที่ 5 โน่นล่ะครับ !
ทำไมชื่อถนนในเมืองเก่า จึงเป็นชื่อจังหวัด ?
นั่นสิครับ ทำไมในเมืองเก่าภูเก็ต จึงมีถนนหลายสายที่มีชื่อเดียวกับจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ทั้งถนนพังงา ถนนกระบี่ ถนนสตูล ถนนระนอง (หรือซอยตะกั่วป่าก็มีนะ)
ทั้งหมดนี้เป็นชื่อเมืองที่รวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต ในสมัยที่คอซิมบี้ ณ ระนอง เป็นสมุหเทศาภิบาล ยังไงล่ะครับ เมื่อมีการตัดถนนสายต่างๆ เพื่อสร้างตลาดตึกแถวที่กลายมาเป็นเมืองเก่าภูเก็ตปัจจุบัน จึงนำชื่อเมืองในการปกครองมาตั้งเป็นชื่อถนนสายต่างๆ ซะเลย นอกจากถนนชื่อเดียวกับหัวเมืองในปักษ์ใต้แล้ว ยังมีถนนบางกอกและถนนเยาวราชอีกด้วย
สำหรับชื่อถนนที่ตั้งตามชื่อบุคคลสำคัญในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มีอีกนะ เช่นถนนดำรง ที่ได้ชื่อตามพระนามของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคอซิมบี้ ณ ระนอง นั่นเองครับ
โรงแรมออนออน
ชอบดูหนังไหม ถ้าเคยชมภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดีแครปริโอ ก็อาจจะเคยเห็นโรงแรมนี้อยู่ในหนังแว้บๆ นะ เพราะฉากโรงแรมออนออนกลายมาเป็นถนนข้าวสารในหนัง ทั้งที่จริง เขาถ่ายทำกันที่จังหวัดภูเก็ตนี่ล่ะครับ
คำว่าออนออนเป็นภาษาฮกเกี้ยน แปลว่าความเจริญรุ่งเรือง เป็นคำที่มีความหมายมงคลมากๆ โรงแรมนี้สร้างในปี พ.ศ. 2470 ยอมรับกันว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเก่าภูเก็ตครับ
ซอยรมณีย์
ตอนนี้หลายคนคงรู้จักซอยรมณีย์ในฐานะถนนคนเดินใช่ไหม และคงคุ้นตากับพี่ชายที่นั่งอยู่ในดงตาข่ายดักฝัน ซอยนี้กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเลยล่ะครับ โดยเฉพาะสาวๆ ก็ชอบแต่งตัวสวยๆ มาเดินถ่ายรูปกับบ้านเก่าสีชมพูแสนสวย แต่รู้ประวัติซอยนี้แล้วจะหนาว ในยุคที่ธุรกิจเหมืองแร่เฟื่องฟู ตราบจนถึงยุคสงครามโลก ซอยรมณีย์ถูกเรียกว่ามาเก๊าครับ
นอกจากจะมีทั้งฝิ่นทั้งการพนันให้หาความสำราญแล้ว ยังมีหญิงโสเภณีจากมาเก๊า ญี่ปุ่น มลายู มารวมอยู่ในซอยเดียว (ว่ากันว่าเคยมีผู้หญิงจีนกับเกาหลีด้วยนะ !) พื้นที่บริเวณนี้ถูกจัดเป็นโซนนิ่งสำหรับธุรกิจประเภทสีเทาครับ โดยธุรกิจแนวนี้จะถูกบังคับให้ตั้งอยู่ที่ซอยรมณีย์กับถนนบางกอกเท่านั้น
แต่นั่นคือเรื่องราวของอดีต เพราะในปัจจุบัน ซอยรมณีย์กลายเป็นบ้านเก่าเมืองเก่าที่งดงามมีคุณค่า และซอยนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีกินผัก หรือ เจี๊ยะฉ่าย ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชาวภูเก็ตด้วยครับ โดยเป็นผลมาจากโรคระบาดครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับโควิด - 19 นี่เอง
ชมสตรีทอาร์ตภูเก็ต
หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน (เพราะยังไม่เคยมาเที่ยว) ว่าภูเก็ตก็มีภาพสตรีทอาร์ตด้วย ภาพวาดเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วเมืองเก่า ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางค้นหาเก็บภาพเป็นที่ระลึก ลองพิจารณาดูดีๆ ครับ เขาบอกว่าในภาพด้านบนเป็นงานสตรีทอาร์ตของ รักกิจ ควรหาเวช ที่ศิลปินได้ซ่อนภาพขนมในวัยเด็กของเขาไว้ถึง 12 อย่าง
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
เมื่อแร่ดีบุกเป็นที่ตัองการสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวจีนจำนวนมากบ่ายหน้าสู่เมืองภูเก็ต แทบทั้งหมดเป็นชาวฮกเกี้ยนที่อพยพหนีความแร้นแค้นยากจน กรรมกรเหมืองแร่ดีบุกบางส่วนได้ทำมาค้าขายจนมีฐานะรุ่งเรือง กลายเป็นตระกูลการค้าหลายตระกูล ที่รวมตัวกันเข้าเป็นสมาคมภูเก็ตไทยหัว และร่วมกันสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนจีนขึ้น หลังจากที่โรงเรียนจีนหลายแห่งในภูเก็ตถูกปิดลงด้วยเหตุผลทางการเมือง
อาคารพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันนี้ล่ะครับ คืออดีตโรงเรียนไทยหัวนั่นเอง
ภายในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตระกูลต่างๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกเศรษฐกิจเมืองภูเก็ต แต่ละตระกูลต่างมีคติในการดำเนินชีวิตกันคนละแบบ ดำเนินธุรกิจกันคนละลักษณะ บางท่านประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ทำปาล์ม บ้างจำหน่ายบุหรี่ ขายพันธุ์ยาง บ้างทำธุรกิจขนส่ง ฯลฯ ทางพิพิธภัณฑ์ได้เรียบเรียงข้อมูลเป็นนิทรรศการ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษายุคสมัยแห่งการบุกเบิกธุรกิจหลากหลายประเภทของภูเก็ตครับ
อีกส่วนหนึ่งบอกเล่าถึงวัฒนธรรมของชาวจีนบาบ๋าย่าหยา แถมรวบรวมเรื่องราวการอยู่การกินของชาวเมืองอย่างละเอียดละอออีกด้วย สำหรับใครที่เป็นสายชิม ต้องการเสาะหาร้านเก่าแก่ในภูเก็ต สามารถเดินทางมาเก็บข้อมูลก่อนตระเวนชิมได้จากพิพิธภัณฑ์นี้ รับรองว่าเจ๋ง !
ร้านขายยาหงวนซุนต๋อง
ร้านขายยาโบราณกับบ้านเก่าเมืองเก่าเป็นของคู่กัน ถ้ามาเดินเที่ยวเมืองเก่าภูเก็ต อย่าลืมแวะมาถ่ายภาพที่ร้านหงวนซุนต๋อง ตั้งอยู่บนถนนถลาง ร้านขายยานี้มีอายุมากกว่า 100 ปีแล้วครับ คนเก่าคนแก่รู้จักในชื่อร้านแม่ปริก สังเกตดูว่าตอนนี้ขายฟิชเชอร์แมน เฟรนด์ แล้ว
เดินชมบ้านเก่า คฤหาสน์โบราณ
นอกจากบ้านตึกแถวชิโน-โปรตุกีสที่มีให้เห็นตลอดทุกสายถนนแล้ว ภายในเมืองเก่ายังมีบ้านหลังใหญ่ๆ ที่เรียกกันว่าคฤหาสน์ เป็นบ้านเก่าแก่ตกทอดมาถึงปัจจุบันอยู่หลายหลัง ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา (คู่กับบ้านชินประชา) บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์ บ้านตระกูลถาวรว่องวงศ์
เมืองเก่ากลางคืน
เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน แสงจากหลอดไฟประดับประดาก็สว่างไสวขึ้น ส่งผลให้เมืองเก่ายามราตรีเต็มไปด้วยสีสัน ท้องถนนแทบไม่มีรถยนต์ เชิญชวนให้ออกจากที่พักเดินเตร็ดเตร่ไปตามถนนสายหลัก อาจจะหลบเข้าไปในผับบาร์สักแห่ง เพื่อค่ำคืนที่จะไม่เงียบเหงาจนเกินไปครับ.