
เที่ยวอยุธยา เปิดตำนานเจดีย์นักเลง วัดสามปลื้ม แต่ไม่ใช่วัดสามปลื้มในกรุงเทพมหานครนะ วัดสามปลื้มที่ว่า หมายถึงวัดสามปลื้มที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่างหาก ตอนนี้เหลือแต่เจดีย์ใหญ่กลางถนนองค์เดียว ใครมาก็เจอก่อนเลย เพราะอยู่ก่อนถึงสะพานปรีดีธำรง ทางเข้าเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ แม้แต่ถนนยังต้องหลบทางให้ กลายเป็นเจดีย์วงเวียนที่ชาวอยุธยาเรียกต่อๆ กันมาว่าเจดีย์นักเลง เรื่องเล่าท้องถิ่นมีเล่ากันบ้างว่า นักเลงกลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้ใครทำลายองค์เจดีย์ จนต้องทำถนนอ้อมองค์เจดีย์ให้ ส่วนบางคนว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ รถยนต์ต้องวิ่งอ้อมกันหมด จึงเรียกเจดีย์นักเลงตลอดมา
แต่เรื่องที่วัดสามปลิ้มอยู่ตรงไหน ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะเหลือแต่เจดีย์องค์เดียวอย่างนี้มานานแล้ว
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนให้เกิดการตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่วัดร้าง ภายในกำแพงเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็น พรบ. ที่อาจจะมีส่วนในการทำลายร่องรอยโบราณสถานนับร้อยแห่ง ใจกลางเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
แนวกำแพงเมืองด้านแม่น้ำป่าสัก
มาตรา 3 พรบ. ฉบับดังกล่าว
มาตรา 3 ของ พรบ. ฉบับดังกล่าว ระบุว่า ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในกำแพงเมือง (ภายในเกาะเมืองทั้งหมด) รวมเนื้อที่ประมาณ 4,500 ไร่ กระทรวงการคลังในเวลานั้น จัดการขายที่ดินให้แก่ประชาชนที่ต้องการสร้างบ้านเรือนภายในเกาะเมือง ทำให้เกิดการรื้อทำลายร่องรอยโบราณสถานจำนวนมาก
นอกจากนี้ นายปรีดียังสนับสนุนให้สร้างสะพานปรีดีธำรง ย้ายโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเข้ามากลางเกาะเมือง จนภายหลังเกาะเมืองอยุธยาได้กลายเป็นศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในที่สุด
เป็นเพราะเจดีย์วัดสามปลื้ม หรือ เจดีย์นักเลง เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง อยู่นอกเขตกำแพงเมืองเดิม รวมทั้งเป็นเส้นทางสัญจร ที่ดินบริเวณดังกล่าวจึงไม่ถูกขายให้แก่เอกชน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
วิหารพระนอน วัดพนมยงค์
นายปรีดี พนมยงค์ เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด มีหลักแหล่งที่อยู่ทางวัดพนมยงค์ (แผนที่เมืองกรุงเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ฉบับ พระยาโบราณราชธานินทร์ เรียกว่า วัดพนมโยง) สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริให้ประชาชนจัดหาชื่อสกุล ครอบครัวของนายปรีดี อาศัยชื่อวัดพนมยงค์เป็นชื่อสกุล ภายหลังมีผู้เข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ว่าวัดพนมยงค์เป็นวัดประจำตระกูลของนายปรีดี
เจดีย์วัดสามปลิ้มกลางถนนโรจนะ
📸 การถ่ายภาพเจดีย์วัดสามปลื้ม ให้ได้ภาพถ่ายที่สวยงามมีสีสัน อาจต้องรอความมืดมาเยือนเสียก่อน แนะนำให้ถ่ายภาพอยุธยาตอนกลางคืน เพราะเจดีย์จะถูกประดับด้วยแสงไฟ สวยงามกว่าภาพถ่ายตอนกลางวันเป็นไหนๆ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่โบราณสถาน ภูเขาทอง พ.ศ. 2499 ภาพจากหนังสือ สมุดภาพกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนพุทธศักราช 2500 เผยแพร่ พ.ศ. 2563
ภาพจากหนังสือ บันทึกผลงานของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499 เผยแพร่ พ.ศ. 2500
ถึงจะไม่ถูกรื้อทำลายไปด้วย แต่ในเวลานั้น เจดีย์วัดสามปลื้มก็น่าจะอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมากทีเดียว เจดีย์วัดสามปลื้ม ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งแรก ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคแรกก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรม โดยยกฐานะจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานในสังกัด เกิดการขุดแต่งโบราณสถานจำนวนมาก ทั้งในจังหวัดสุโขทัย นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และเชียงราย นักวิชาการบางฝ่ายมีความเห็นว่า การขุดแต่งโบราณสถานในเวลานั้น เป็นเรื่องทางการเมือง ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการหันเหความสนใจของประชาชนไปสู่เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยความไม่มั่นคงและขาดเสถียรภาพของรัฐบาลเอง
หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร
เฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากได้รับทุนสนับสนุนการซ่อมแซมพระมงคลบพิตรจากประธานาธิบดีอูนุ แห่งสหภาพพม่าแล้ว (นายกรัฐมนตรีของสหภาพพม่ายังเดินทางมาขอขมาทรากปรักหักพังด้วยตนเอง เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อประเทศไทย) รัฐบาลไทยอนุมัติเงินงบประมาณสูงถึงสิบล้านบาท สำหรับการบูรณะวิหารพระมงคลบพิตร พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ เพนียดคล้องช้าง เป็นต้น และได้มุ่งหน้าพัฒนาเกาะเมืองอยุธยาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป
เจดีย์วัดสามปลื้มตั้งอยู่บนถนนโรจนะ ก่อนถึงสะพานปรีดีธำรง ปากประตูทางเข้าสู่เกาะเมืองอยุธยา การก่อสร้างถนนสายนี้ได้ทำลายโบราณสถานของกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก เช่น วัดโค วัดเผาข้าว วัดจิ้งจก วัดเสียมราษฏร์ วัดท่าจีน วัดซอแจ วัดนางชี วัดแม่นางมุข รวมทั้งการสร้างศาลากลางจังหวัด, ทัณฑสถานวัยหนุ่ม, วิทยาลัยเกษตรกรรม, วิทยาลัยครู, อยุธยาวิทยาลัย ฯลฯ ในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ได้ทำลายวัดป่าฝ้าย วัดโคกขมิ้น วัดขุนพรหม วัดเล่า วัดป่าจาน วัดศาลาเจ้าธง และวัดอื่นๆ เป็นต้น
โครงการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะก่อการเพื่อโค่นล้ม รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (สมัยที่สอง) ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คณะราษฎร ที่เรืองอำนาจตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา
เป็นเพราะคณะราษฎรแท้ๆ ที่ทำลายโบราณสถานของชาติ และทำลายมรดกโลกอยุธยาไปอย่างมากมาย คิดแล้วก็ตลกครับ คนไทยบางคนถึงขั้นจะเปลี่ยนวันชาติ ถือเอาวันปล้นอำนาจเป็นวันชาติไทยกันเลย
คุณ หลวงพิบูลไม่เอาสงคราม
Sat, 01 Jul 2023 17:18:23
ไม่เคยรู้เลย เพิ่งรู้ประวัติเจดีย์นี้ค่ะ เจอทุกทีเวลาเข้าเมืองอยุธยา
คุณ จิรภา
Mon, 03 Jul 2023 09:40:51
โพสต์อิทแรกเป็นอะไรมากไหมน่ะ บ้าการเมืองเหรอ เว็บนี้เขาไปเที่ยวกัน อย่าเอาการเมืองมายุ่ง ไอ้บ้า !!
คุณ ปรีดี พนมสารคาม
Mon, 07 Aug 2023 09:58:52
โพสต์อิทแรกก็ว่าเกินไป คณะราษฎรทำอะไรดีๆ ตั้งเยอะ อย่างน้อยก็ยังได้มีรัฐธรรมนูญใช้
คุณ หลวงธำรงนาวาพินาศ
Mon, 07 Aug 2023 18:26:12