
ไหว้พระ 10 วัด อยุธยา ท่องเที่ยวทำบุญพร้อมเกร็ดประวัติศาสตร์สนุกๆ แบบเอาไปเล่าให้เพื่อนฟังได้ (ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบจำไปสอบเข้าโบราณคดี ศิลปากร) มาเที่ยวเมืองเก่าอยุธยาทั้งที ก็ต้องร้องเพลงนี้ก่อนล่ะครับ "อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน จิตใจอาวรณ์มาเล่าสู่กันฟัง อยุธยาแต่ก่อนนี้ยัง เป็นดังเมืองทองของพี่น้องเผ่าพงษ์ไทย... โอเยๆๆ..."
แหม่ ร้องเพลงเก่า แต่มีโอเยต่อท้ายซะด้วย กลายเป็นเพลงสมัยใหม่เลย เป็นเพราะ "Sookjai วันหยุด" โดย สวัสดี ออนไลน์ สำนักพิมพ์ มีโอกาสมาเดินเลาะเที่ยวเล่น หาชิมของอร่อยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่นี้ดดดดดเดียวเท่านั้น
เวลานี้อยุธยาเต็มไปด้วยความเป็นสมัยใหม่ท่ามกลางทรากเมืองเก่า ดังนั้น เวลาร้องเพลงอยุธยาเลยต้องมีโอเยต่อท้ายด้วยครับ
ขอแค่มีวันหยุดสัก 1-2 วัน ก็ท่องเที่ยวไหว้พระได้ทั่ว สำหรับเมืองเก่าอยุธยา มรดกตกทอดจากราชธานีแห่งแรกของประเทศไทยแลนด์แดนสยาม มีอายุตั้งเกือบ 700 ปี มีวัดเก่าวัดแก่ วัดร้างวัดไม่ร้างนับร้อยแห่ง ขืนเที่ยวหมดทุกวัดคงไมไหวแน่ เลือกวัดที่ชาวเราชอบท่องเที่ยวไหว้พระทำบุญจนเกิดธรรมเนียมไหว้พระ 9 วัด 10 วัดขึ้นมาล่ะกัน
มาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยุธยากันนะครับ
วัดพนัญเชิง
ก่อนเข้าเกาะเมืองอยุธยา แวะเข้าวัดพนัญเชิงซะก่อน มาไหว้ขอพรซำปอกง หรือ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงศรีอยุธยา ที่รอดจากการถูกเผาทำลายโดยกองทัพพม่าที่ตั้งค่ายรบอยู่ที่วัดแห่งนี้ หลวงพ่อโตองค์นี้มีขนาดหน้าตักกว้างถึง 14.2 เมตรเลยทีเดียว
วัดพนัญเชิงแห่งนี้เป็นที่ฮ็อตฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มาท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซะด้วย เพราะความสัมพันธ์ไทยจีนยาวนานหลายร้อยปี มีนิทานเรื่องเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก พระธิดากรุงจีนเดินทางมากับเรือสำเภา ต้องจบชีวิตลงที่หน้าวัดแห่งนี้ ปรากฏเป็นศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเรื่องเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็นเรื่องเล่าตั้งแต่สมัยยังเป็นเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนจะก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาซะอีก
วัดใหญ่ชัยมงคล
มาไหว้พระวัดใหญ่ไม่ผิดหวัง มีให้ไหว้ทั้งพระพุทธชัยมงคล ทั้งพระนอน พระนั่ง จนกระทั่งพระนเรศวร วัดนี้วัดใหญ่จริงๆ ครับ มีองค์ประธานเป็นพระเจดีย์ทรงสวยสุดของอยุธยาซะด้วย จะดูมุมไหนก็เป็นเจดีย์ทรงระฆังสูงชะลูด ดูได้รูปได้ทรงไปหมด
เจดีย์ประธานของวัดนี้ล่ะครับ ที่ได้พบพระพุทธชัยมงคลคาถา หรือ คาถาพาหุง ใช้สวดสรรเสริญชัยชนะแปดประการ ปัจจุบันใช้สวดต่อจากคาถาทำวัตรเช้าเย็น
นอกจากเจดีย์ที่พระนเรศวรสร้างฉลองชัยชนะที่ได้ต่อเมืองพม่าหงสาวดีแล้ว ภายในวัดยังมีพระนอนในทรากวิหารเก่าให้สักการะอีกด้วย
ภูเขาทอง
อ้อมเมืองจากตะวันตกเฉียงใต้ไปทางเฉียงเหนือ แยกไม่ไกลจะพบเจดีย์ภูเขาทองตั้งเด่นอยู่กลางทุ่ง บุเรงนองกษัตริย์พม่าเป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 แต่ในภายหลังได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเสาหลักทางด้านจิตใจของชาวอยุธยา กระทั่งปัจจุบันยังมีผู้นิยมกราบไหว้เสมอ
นอกจากนี้ ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา ยังเป็นต้นแบบให้กับภูเขาทองที่วัดสระเกศอีกด้วย
วัดมงคลบพิตร
ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ (ร้าง) คือวัดมงคลบพิตร มาถึงวัดนี้รับรองได้ไหว้พระประธานองค์ใหญ่แน่ๆ เพราะบูรณะวิหารเก่าแก่ (ภาพล่าง) จนแล้วเสร็จ พระมงคลบพิตรถือเป็นพระใหญ่ มีหน้าตักประมาณ 8 เมตรเศษ ที่จริงเป็นพระอยู่กลางแจ้งมาแต่เดิม มีการสร้างพระวิหารในภายหลัง
มาถึงวัดมงคลบพิตรแล้ว อย่าลืมเดินเที่ยวตลาด จับจ่ายใช้สอย ตลาดวัดมงคลบพิตรเต็มไปด้วยของอร่อยซื้อหาได้ยากใน กทม หรือจังหวัดอื่นๆ ครับ Sookjai วันหยุด มาทีไร อดใจไม่ได้ต้องซื้อแห้ว กระจับเขาควาย โรตีสายไหม หรือท็อฟฟี่นมผสมถั่วไปนอนอร่อยที่ห้องพักเสมอ
วัดแม่นางปลื้ม
"Sookjai วันหยุด" เป็นปลื้มกับวัดแม่นางปลื้มแบบสุดๆ เพราะเป็นวัดเก่าแก่ขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีคนมาเที่ยวมากเท่าวัดอื่นๆ จึงมีบรรยากาศแบบวัดสมัยอยุธยาอย่างแท้ทรู แค่ก้าวเท้าเข้ามาในวัดก็รู้สึกแบบนั้นแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกภายในวิหาร ทั้งองค์พระประธาน หรือเจดีย์สิงห์ล้อมทางด้านหลัง รู้สึกได้ถึงบรรยากาศย้อนยุคมากๆ ในขณะที่วัดอื่นๆ บูรณะจนไม่หลงเหลือบรรยากาศเดิม ทั้งที่บางวัดเป็นวัดเก่าแก่ยิ่งกว่าวัดแม่งนางปลื้มเสียอีก
เรื่องเล่ามุขปาฐะของวัดนี้ กล่าวถึงยายปลื้ม หญิงชราชาวกรุงศรีที่โชคดีจับผลัดจับผลูได้รับการอุปการะโดยพระนเรศวร เรื่องมีอยู่ว่า ยายปลื้มได้ต้อนรับพระมหากษัตริย์ที่พายเรือมาเพียงพระองค์เดียว ตอนกลางดึกที่ฝนตกพรำ ด้วยความที่คนสมัยอยุธยาไม่เคยเห็นหน้าพระมหากษัตริย์มาก่อน ยายปลื้มจึงบอกกับพระนเรศวรว่า
"อย่าทำเสียงดังไปนา เดี๋ยวพระมหากษัตริย์ท่านได้ยิน ท่านจะว่าเอานา"
พระนเรศวรได้ฟังดังนั้นคงชอบใจ จึงบอกแก่ยายปลื้มว่า
"ไหนเอาเหล้ามากินสิ ข้าตากฝนมาหนาวๆ"
ยายปลื้มพอฟังก็รีบปฏิเสธ
"ไม่ได้หรอก วันนี้วันพระ เขาห้ามกินเหล้า มันผิดศีล เดี๋ยวพระมหากษัตริย์ท่านว่าเอานา"
พระนเรศวรคะยั้นคะยอขอเหล้าจากยายปลื้ม จนยายปลื้มอ่อนใจ บอกกับพระนเรศวรว่า
"เอาๆ เอาให้กินแล้วอย่าไปบอกใครเขาล่ะ เดี๋ยวพระมหากษัตริย์ท่านจะว่าเอานา"
พระนเรศวรโปรดฯ ให้รับยายปลื้มเข้าไปเลี้ยงดูในวังตลอดชีวิต แม้ในภายหลังได้เสียชีวิตลง ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดแห่งนี้ พร้อมพระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ว่าวัดแม่นางปลื้ม
วัดธรรมิกราช
วัดนี้มีจุดเด่นคือเศียรพระพุทธรูปที่เรียกกันว่าเศียรพระธรรมิกราช มีลักษณะแบบพระพุทธรูปในอิทธิพลศิลปะลพบุรี แต่เศียรพระธรรมิกราชที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปกันนี้ เป็นเศียรที่ถูกจำลองขึ้น ส่วนเศียรพระธรรมิกราชที่แท้จริง ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ถ้าอยากจะชมของจริง ก็ต้องไปที่พิพิธภัณฑ์ภายในเกาะเมืองแห่งนี้แหละครับ
เขาว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระราชโอรสของเจ้าชายสายน้ำผึ้ง ก่อนตั้งเมืองเป็นกรุงศรีอยุธยาเสียอีก
ในภาพเป็นทรากฐานพระอุโบสถใหญ่ ส่วนพระเจดีย์สิงห์ล้อมเหมือนกับที่วัดแม่นางปลื้มเป๊ะๆ น่าจะเป็นเจดีย์สร้างในสมัยเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีวิหารพระนอนที่คนนิยมกราบไหว้ขอพรกันเรื่อยมา
วัดกลาง คลองสระบัว
คนเคยมาเที่ยวไหว้พระขอพรที่เมืองเก่าอยุธยาเขาบอกให้ทราบ ว่าเคยสมหวังที่วัดกลาง คลองสระบัว แห่งนี้ พอได้ยินแบบนี้ต้องรีบมาไหว้ในบัดดล เพราะ "Sookjai วันหยุด" ตั้งใจจะขอพรจากหลวงพ่อทันใจ ขอให้มีแฟนเป็นหญิงสาวขาวสวย น่ารักๆ ขอให้มีทรวดทรงองค์เอวสูงชะลูดคอดกิ่วอย่างกับเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล พอมาถึงทราบว่าหลวงพ่อทันใจเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก มีผู้นิยมมากราบไหว้ขอพรอย่างมากมาย
วัดหน้าพระเมรุ
เป็นวัดหนึ่งที่ไม่ได้ถูกกองทัพพม่าทำลายเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2310 เป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น อาจจะสร้างขึ้นในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 เดิมเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยา
ประชาชนที่มากราบไหว้ขอพรสามารถสักการะ พระพุทธนิมิตวิชิตมารฯ พระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา กับ พระพุทธรูปศิลาเขียว หรือพระคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาท ที่อัญเชิญจากวัดมหาธาตุเมื่อคราวบูรณะสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นพระพุทธรูปศิลานั่งห้อยพระบาท สมัยทวารวดี 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย
ภายในพระอุโบสถยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังที่หลงเหลือมาจากสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยครับ
วัดพุทไธศวรรย์
มาไหว้พระทำบุญกันต่อที่วัดพุทไธศวรรย์ วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้อยู่ฝั่งเกาะเมืองนะครับ แต่อยู่ฝั่ง "ปท่าคูจาม" คำว่า "ปท่า" พจนานุกรมไทยมีแต่ "ประท่า" แปลว่าฟากตรงข้าม ปท่าคูจามเป็นที่ตั้งของเวียงเล็ก หรือ เวียงเหล็ก เป็นที่ประทับแห่งแรกของพระเจ้าอู่ทองเมื่อเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดฯ ให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสถานที่ประทับเดิม
นอกจากเจดีย์ทรงปรางค์สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัดพุทไธศวรรย์แล้ว ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่รอดพ้นจากการถูกกองทัพพม่าเข้าปล้นสดมภ์ทำลายในปี พ.ศ. 2310 มาได้
วัดประดู่ทรงธรรม
เดินทางมาไหว้สาขอพร หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเรือง หลวงพ่อรวย และหลวงพ่อรอด (เสือ) 4 พระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานในพระวิหารวัดประดู่ทรงธรรม หรือเรียกในอีกชื่อว่า วัดประดู่โรงธรรม ก็ได้ ตามตำนานกล่าวว่าคณะสงฆ์ของวัดนี้ ได้ช่วยเหลือพระเจ้าทรงธรรมให้รอดพ้นจากการลอบปลงพระชนม์โดยพวกญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดฯ พระราชทานเลี้ยงภัตตาหารคาวหวานแด่พระสงฆ์วัดประดู่ทรงธรรมตลอดจนสิ้นรัชกาล เพื่อตอบแทนคุณงามความดีของคณะสงฆ์เหล่านั้น
ภาพจิตรกรรมสีฝุ่นในสมัยรัชกาลที่ 4 บนผนังวิหารวัดประดู่ทรงธรรม โดดเด่นในบทตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า (พุทธประวัติ) โดยเฉพาะภาพการละเล่นต่างๆ ภายในงานพิธี ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นทั้งละคร งิ้ว และกายกรรมต่างๆ (ไม่มีในภาพประกอบนะครับ)
เชื่อกันว่า ภายในวัดประดู่ทรงธรรมมีเจดีย์องค์หนึ่ง เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าทรงธรรมด้วยครับ
จบการพาทัวร์ไหว้พระ 10 วัด อยุธยา ท่องเที่ยวทำบุญพร้อมรับทราบเกร็ดประวัติศาสตร์สนุกๆ อยุธยาอยู่ใกล้แค่นี้ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไม่แพงเลย แถมของอร่อยก็เยอะ สามารถเดินทางมาไหว้พระได้ทุกสัปดาห์ครับ.